Wednesday, November 12, 2008

นโยบาย สพฐ.ปีงบประมาณ 2552

แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายของ สพฐ. ปีงบประมาณ ๒๕๕๒
ผลผลิตหลักของ สพฐ. ปี ๒๕๕๒ ผลผลิตจำนวน ๕ ผลผลิต ได้แก่
๑. ผู้จบการศึกษาก่อนประถมศึกษา
๒. ผู้จบการศึกษาภาคบังคับ
๓. ผู้จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย
๔. เด็กพิการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานและพัฒนาสมรรถภาพ
๕. เด็กด้อยโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เป้าหมายการให้บริการของ สพฐ. ๓ ด้าน
๑. ด้านโอกาสทางการศึกษา
๑.๑ ประชากรในวัยเรียนได้รับโอกาสในการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และได้รับโอกาส
ในการศึกษาปฐมวัยอย่างน้อย 1 ปี ก่อนเข้าเรียนในระดับการศึกษาภาคบังคับ
๑.๒ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้เรียนในเขตพื้นที่พิเศษได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาปฐมวัยอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงตามลักษณะของผู้เรียนแต่ละกลุ่มและประเภท
๑.๓ ผู้เรียน ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ
และสอดคล้องกับอัตลักษณ์ วิถีชีวิตและความต้องการของชุมชน
๒. ด้านคุณภาพการศึกษา
๒.๑ ผู้เรียนทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษาปฐมวัย
๒.๒ ครูผู้สอนมีเพียงพอและสามารถจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและให้ความสำคัญกับพื้นฐานและศักยภาพของผู้เรียน
๒.๓ สถานศึกษาทุกแห่งมีระบบประกันคุณภาพภายในและผ่านการประเมินการศึกษาของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา
๓. ด้านประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา ตลอดจนองค์คณะบุคคลตามกฏหมายมีความพร้อม และมีความเข้มแข็งที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามหลักธรรมาภิบาลอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล โดยใช้เครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วน
กลยุทธ์สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ ๒๕๕๒ ๖ กลยุทธ์
๑. ปลูกฝังคุณธรรม ความสำนึกในความเป็นชาติไทย และวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่นักเรียนทุกคน
๒. เพิ่มอัตราการเข้าเรียนในทุกระดับ ทั้งเด็กทั่วไป ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ลดอัตราการออกกลางคัน และ พัฒนารูปแบบการให้บริการการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่เยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา
๓. ยกระดับคุณภาพสถานศึกษาสู่มาตรฐานการศึกษาของชาติ พัฒนาผู้เรียน สมรรถนะครูและบุคลากรอย่างเป็นระบบ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานและปฐมวัย และการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนบรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรการศึกษาอย่างเต็มตามศักยภาพ
๔. เร่งรัดพัฒนาความพร้อมในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้แก่สถานศึกษาและหน่วยงานการศึกษาในสังกัดเพื่อการเรียนรู้และการบริหารจัดการ
๕. สร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารและการจัดการศึกษาเพื่อรองรับการกระจายอำนาจอย่างมีประสิทธิภาพบนหลักธรรมาภิบาลในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา
๖. เร่งพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิตนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษ เฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
กลยุทธ์ เป้าหมายความสำเร็จ และมาตรการ
กลยุทธ์ที่ ๑ ปลูกฝังคุณธรรม ความสำนึกในความเป็นชาติไทย และวิถีชีวิตตาม หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่นักเรียนทุกคน
เป้าหมายความสำเร็จ
๑. นักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ผ่านการประเมินคุณธรรม มีสำนึกในความเป็นชาติไทย สามารถปฏิบัติตนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและวิถีประชาธิปไตย
มาตรการ
๑. สำรวจสภาพการจัดการเรียนการสอนในกลุ่มสาระสังคมศึกษา
๒. ประเมินความเข้าใจของนักเรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้
๓. เสริมประสิทธิภาพในการพัฒนาหลักสูตรแกนกลาง หลักสูตรสถานศึกษา
๔. พัฒนาสื่อและการจัดการเรียนการสอน
๒. ลดจำนวนเยาวชนมีพฤติกรรมเสี่ยง มีโรงเรียนคุณธรรมต้นแบบและโรงเรียนวิถีพุทธต้นแบบผ่านเกณฑ์การประเมิน
มาตรการ
๑. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่งมีข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมเด็กติดเกมส์ การตั้งครรภ์ ปัญหาเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน ความรุนแรงในโรงเรียน และการกระทำผิดในหมู่นักเรียน
๒. จัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมตามนโยบายในแต่ละสถานศึกษา
๓. มีระบบการจัดการความรู้
๔. มีแผนส่งเสริมและติดตามผลการพัฒนาคุณธรรมสู่การปฏิบัติ และเฝ้าระวังปัญหายา เสพติดในโรงเรียน
๓. ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนมีความรู้ความเข้าใจในนโยบาย ประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี และสามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังคุณธรรมได้ตามนโยบาย
มาตรการ
๑. พัฒนาผู้บริหาร และครูให้มีความเข้าใจและมีความพร้อมที่จะจัดกิจกรรมการเรียน การสอน
๒. พัฒนาผู้เรียนเพื่อปลูกฝังคุณธรรม โดยให้ความสำคัญกับสถานศึกษาที่มีข้อมูลพฤติกรรมเสี่ยงของนักเรียนสูง
๔. โรงเรียนทุกแห่งจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังคุณธรรม ความสำนึกในความเป็นชาติไทยและวิถีชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ให้ความสำคัญกับกิจกรรมลดภาวะโลกร้อน โดยมีโรงเรียนผ่านมาตรฐานและสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับโรงเรียนอื่นไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๕๐
มาตรการ
๑. ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาสื่อ
๒. จัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่หลากหลาย โดยเฉพาะการจัดค่าย การแสดง ลูกเสือ ดนตรี กีฬา เพื่อเป็นแนวทางในการปลูกฝังคุณธรรม ความสำนึกในความเป็นชาติไทย วิถีประชาธิปไตย
๓. จัดกิจกรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษา ขั้นพื้นฐาน
๔. ให้ความสำคัญแก่การสร้างเสริมจิตสำนึกในความเป็นชาติไทยเป็นพิเศษในปีงบประมาณ ๒๕๕๒
๕. โรงเรียนทุกแห่งมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และโรงเรียนที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลายสามารถพัฒนาระบบได้มาตรฐานไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๓๐
มาตรการ
๑. สนับสนุนการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนทุกแห่ง โดยให้ความสำคัญกับโรงเรียนที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลายอย่างครบวงจร และประเมินมาตรฐานของระบบเป็นรายโรงเพื่อพัฒนาต่อยอด
๒. ส่งเสริมให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาทำงานเป็นเครือข่ายกับสถาบันทางศาสนา ผู้ปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมคุณธรรมและแก้ปัญหาพฤติกรรมของครูและบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน
กลยุทธ์ที่ ๒ เพิ่มอัตราการเข้าเรียนในทุกระดับ ทั้งเด็กทั่วไป ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ลดอัตราการออกกลางคัน และพัฒนารูปแบบการให้บริการการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่เยาวชนที่อยู่ นอกระบบการศึกษา
เป้าหมายความสำเร็จ
๑. เพิ่มอัตราการเข้าเรียนภาคบังคับโดยรวม ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๙๐ โดยไม่มีตำบลใดที่มีอัตราการเข้าเรียน
การศึกษาภาคบังคับต่ำกว่าร้อยละ ๘๐ และลดอัตราการออกกลางคันให้เหลือไม่เกินร้อยละ ๐.๘ และเพิ่มอัตราการเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ เรียนต่อมัธยมศึกษาตอนปลายทุกสังกัดไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐

มาตรการ
๑. ปรับปรุงระบบข้อมูลและระบบวางแผนเพื่อเพิ่มอัตราการเข้าเรียน อัตราการเรียนต่อ การพัฒนาสถาน ศึกษา การขยายบริการทางการศึกษา และการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมกับสภาพในแต่ละเขตพื้นที่
๒. ปรับปรุงและกำกับแนวปฏิบัติเรื่องการรับนักเรียนให้โปร่งใส เป็นธรรม และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ จัดทำแผนยุทธศาสตร์และสนับสนุนการขยาย จัดตั้งและพัฒนาโรงเรียนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในโอกาสและคุณภาพการศึกษา
๓. สนับสนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนที่ด้อยโอกาสและผู้มีความต้องการพิเศษอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
๔. แสวงหาแนวทางสนับสนุนโรงเรียนให้สามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพโดยไม่ต้องเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อเสนอขอความสนับสนุนจากรัฐบาล
๕. ส่งเสริมการจัดและมีส่วนร่วมจัดในการจัดการศึกษา โดยบุคคล ครอบครัว สถานประกอบการ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
๒. เพิ่มจำนวนผู้เรียนที่พิการผู้ด้อยโอกาส ผู้ตกหล่น ผู้ออกกลางคันและอยู่นอกระบบโรงเรียนให้ได้รับบริการทางการศึกษาทั้งในพื้นที่ทั่วไปและพื้นที่พิเศษ
มาตรการ
๑. ขยายบริการทางการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีปัญหาทางการ เรียนรู้ ทางสติปัญญาและอารมณ์เด็กและเยาวชนที่เจ็บป่วยในโรงพยาบาล ตลอดจนสนับสนุนและประสานการระดมทรัพยากร สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการตามสภาพความจำเป็น ในการเรียนรู้
๒. สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาเพื่อเข้าถึงเด็กและเยาวชนผู้พิการ ผู้มีความต้องการพิเศษ ผู้ด้อยโอกาส และผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร
๓. พัฒนาระบบที่จะสนับสนุนปัจจัยสำหรับผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มเป้าหมายพิเศษตามความจำเป็น เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการรับการศึกษา 12 ปี
๔. ขยายเครือข่ายโรงเรียนแกนนำเรียนร่วมในการศึกษาระดับปฐมวัย ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย
๓. ร้อยละ ๘๐ ของประชากรวัย ๔ – ๖ ปี ได้รับการศึกษาปฐมวัยอย่างน้อย ๑ ปี โดยให้ความสำคัญแก่ผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มเป้าหมายพิเศษ
มาตรการ
๑. ส่งเสริมให้เด็กอายุช่วงปฐมวัยเข้าเรียนทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชน
๒. สนับสนุนการพัฒนาเด็กปฐมวัย และให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มเป้าหมายพิเศษ
กลยุทธ์ที่ ๓ ยกระดับคุณภาพสถานศึกษาสู่มาตรฐานการศึกษาของชาติ พัฒนาผู้เรียน สมรรถนะครูและ
บุคลากรอย่างเป็นระบบ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และปฐมวัย และการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนบรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรการศึกษาอย่างเต็มตามศักยภาพ
เป้าหมายความสำเร็จ
๑. สถานศึกษาร้อยละ ๘๐ ผ่านเกณฑ์การประเมินมาตรฐานตามระบบประกันคุณภาพ ภายใน และผ่านเกณฑ์การประเมินการรับรองมาตรฐานของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับดีขึ้นไปอย่างน้อยร้อยละ ๘๐ และไม่มีสถานศึกษาใดอยู่ในระดับปรับปรุง
มาตรการ
๑. กำกับ ดูแล ช่วยเหลือเพื่อพัฒนาสถานศึกษาที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานและสถานศึกษาขนาดเล็กตามแผนยุทธศาสตร์โรงเรียนขนาดเล็ก
๒. สนับสนุนการพัฒนาสถานศึกษาที่ได้รับรองตามมาตรฐานการประเมินคุณภาพภายนอกให้พัฒนาต่อยอดสู่ระดับดีและดีมาก โดยมีโรงเรียนดีใกล้บ้านในทุกอำเภอให้เป็นต้นแบบศูนย์การพัฒนาการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระแก่ครูและนักเรียนในพื้นที่ และมีศูนย์ปฐมวัยต้นแบบ สถานศึกษาผู้นำด้านต่างๆ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับสถานศึกษาอื่น
๒. สถานศึกษาทุกแห่งมีอัตราการขาดครูไม่เกินร้อยละ 30 และสถานศึกษาที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย มีครูตรงวุฒิ หรือผ่านการประเมินความรู้ความสามารถตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
มาตรการ
๑. ให้ความสำคัญแก่การพัฒนาระบบข้อมูลและแผนยุทธศาสตร์เพื่อบริหารและพัฒนาครูทั้งระบบ การแก้ปัญหาการขาดแคลนครู การมีครูไม่ตรงวุฒิ และเร่งพัฒนาสมรรถนะครูทุกกลุ่มสาระอย่างครบวงจร
๒. ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการเรียนการสอนในวิชาภาษาอังกฤษ และภาษาจีน
๓. สถานศึกษานำร่องมีหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของสถานศึกษาที่ได้มาตรฐานสอดคล้องกับสภาพปัญหาท้องถิ่น และสามารถจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
มาตรการ
๑. สนับสนุนโรงเรียนนำร่องการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการขยายผลสู่ สถานศึกษาทั่วไป และสถานศึกษาที่จัดการศึกษาพิเศษสำหรับผู้พิการและ ด้อยโอกาส

๔. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาทุกแห่งสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาทุกระดับให้สูงขึ้น และลดจำนวนผู้เรียนที่อยู่ในเกณฑ์ ปรับปรุง
มาตรการ
๑. ปรับปรุงระบบวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ในสถานศึกษา ปรับปรุงระบบเทียบโอนประสบการณ์ และพัฒนาระบบประเมินผลสัมฤทธิ์ออนไลน์เพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนรวมถึงส่งเสริมการประเมินคุณภาพผู้เรียนในระดับเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง
๒. ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้และรูปแบบพัฒนากระบวนการคิด การจัดการเรียนรู้ที่ สอดคล้องกับพัฒนาการทางสมอง การส่งเสริมการอ่าน การศึกษาปฐมวัย การให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นฐานทางอาชีพและการมีงานทำ
๓. ส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษโดยพัฒนาระบบวัดแวว ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน พัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องผู้มีความสามารถพิเศษ และจัดตั้งศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพ ประจำจังหวัด
๔. พัฒนาการเรียนการสอนสำหรับเด็กพิการ และเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ให้ขยายผลได้มากขึ้นส่งเสริมการพัฒนาเครือข่ายเพื่อส่งเสริมคุณภาพ ระบบจัดการความรู้ การจัดเวทีวิชาการสำหรับสถานศึกษา ครู และนักเรียน
๕. ส่งเสริมการพัฒนาเครือข่ายเพื่อส่งเสริมคุณภาพ ระบบจัดการความรู้ การจัดเวทีวิชาการ สำหรับสถานศึกษา ครู และนักเรียน
กลยุทธ์ที่ ๔ เร่งรัดพัฒนาความพร้อมในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้แก่ สถานศึกษาและหน่วยงานการศึกษาในสังกัดเพื่อการเรียนรู้และการบริหารจัดการ
เป้าหมายความสำเร็จ
๑. นักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับทุกคนร้อยละ ๘๐ มีความรู้และมีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ พื้นฐานเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ และนักเรียนที่จบมัธยมศึกษาตอนปลายอย่างน้อยร้อยละ ๔๐ สามารถเขียนโปรแกรมและออกแบบเว็ปเพจได้
มาตรการ
๑. ปรับสาระการเรียนรู้คอมพิวเตอร์และมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นที่สอดแทรกการใช้ ICT เป็นเครื่องมือการเรียนรู้และแสวงหาความรู้ในทุกกลุ่มสาระ
๒. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีศูนย์การเรียนรู้ ICT ในชุมชนและท้องถิ่น
๒. ครูร้อยละ ๗๐ มีความรู้และทักษะพื้นฐานในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอนและการบริหารจัดการ
มาตรการ
๑. พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้และทักษะพื้นฐานในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอนและการบริหารจัดการในสถานศึกษาด้วยวิธีการที่หลากหลาย
๓. สถานศึกษาร้อยละ ๙๐ มีการนำคอมพิวเตอร์ มาใช้เพื่อการบริหารและสถานศึกษาร้อย ละ ๗๐ มีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อการเรียนการสอนในอัตราส่วน ๑ เครื่อง ต่อนักเรียน ๔๐ คน
มาตรการ
๑. สนับสนุนคอมพิวเตอร์ให้กับสถานศึกษา และประสานให้มีการสนับสนุนคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอนและบริหารจัดการจากภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น
๔. สถานศึกษาร้อยละ ๙๐ มีการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และสถานศึกษา ร้อยละ ๙๐ นำ ICT มาช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้
มาตรการ
๑. ปรับเปลี่ยนระบบสื่อสาร ความเร็วอินเทอร์เน็ตในสถานศึกษาทั่วประเทศเป็น ๕๑๒ Mbps และสถานศึกษาตามโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์เป็น ๒ KMbps
๕. สถานศึกษาขนาดเล็ก และสถานศึกษาในพื้นที่ ห่างไกล ร้อยละ ๕๐ มีระบบการศึกษาทางไกล เพื่อ
เสริมคุณภาพการจัดการเรียนการสอน
มาตรการ
๑. เร่งสนับสนุนเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ สื่อ และระบบอินเตอร์เน็ตในสถานศึกษาขนาดเล็กและสถานศึกษาห่างไกลในการนำระบบการศึกษาทางไกลเพื่อเสริมคุณภาพการจัดการเรียนการสอน
๖. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่ง มีศูนย์รวมสื่อเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนให้กับสถานศึกษาได้ทุกกลุ่มสาระ มีศูนย์เครือข่ายการซ่อมบำรุงคอมพิวเตอร์ในเขตพื้นที่การศึกษาและสำนักงานในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไปใช้เพื่อการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรการ
๑. พัฒนา Web Portal
๒. จัดทำ Visual field trip ติวเตอร์ออนไลน์
๓. จัดทำห้องเรียนทันข่าว e-Learning
๔. ส่งเสริมศูนย์ ICT ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
๕. จัดทำฐานข้อมูลและ Back office
๖. จัดทำศูนย์เครือข่ายการซ่อมบำรุงคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี
กลยุทธ์ที่ ๕ สร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารและการจัดการศึกษาเพื่อรองรับการกระจายอำนาจอย่างมีประสิทธิภาพบนหลักธรรมาภิบาลในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา
เป้าหมายความสำเร็จ
๑. ทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสนับสนุน ให้องค์คณะบุคคลตามกฎหมายมีความพร้อมและมีบทบาทในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีเอกภาพและสอดคล้องกัน
มาตรการ
๑. สร้างความเข้มแข็งให้องค์คณะบุคคลในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาโดยองค์คณะบุคคลสามารถทำงานเชิงบูรณาการให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกันและมี ส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
๒. สถานศึกษาที่ผ่าการอบรมผู้นำการเปลี่ยนแปลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๐ ผ่านการประเมินโรงเรียนที่บริหารจัดการแบบโรงเรียนเป็นฐาน และสามารถเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนโรงเรียนอื่นในการพัฒนาคุณภาพ
มาตรการ
๑. สถานศึกษาประเภทที่หนึ่งประเมินตนเองและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตรวจสอบการประเมินตนเองของสถานศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานและมาตรฐาน SBM
๒. ส่งเสริมสถานศึกษาตามความพร้อมของสถานศึกษาในการบริหารจัดการศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานโดยมีสถานศึกษาที่มีความพร้อม เป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนในการพัฒนาคุณภาพ
๓. ทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีระบบเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพระหว่างโรงเรียนประเภทต่างๆ ที่มีความเข้มแข็ง สามารถเป็นกลไกในการจัดการความรู้ พัฒนาคุณภาพ ติดตามดูแลแก้ปัญหา อย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรการ
๑. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาส่งเสริมการทำงานของเครือข่ายสถานศึกษาประเภทที่หนึ่งในภาพรวมจังหวัด
๒. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจัดทำระบบสารสนเทศ รายสถานศึกษาที่เป็นปัจจุบันและนำไปใช้พัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งข้อมูลครูและบุคลากรทางการศึกษารายบุคคลข้อมูลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระวิชาหลักของนักเรียนรายบุคคลและผลการประเมินคุณภาพภายในของสถานศึกษาและผลการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ.
๓. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา นิเทศติดตาม ช่วยเหลือสถานศึกษาประเภทที่สองและเครือข่ายสถานศึกษาประเภทที่สอง
๔. ทุกโรงเรียนมีคณะกรรมการนักเรียนและ ผู้แทนนักเรียนประเภทต่างๆ ซึ่งได้รับการพัฒนาให้มีความพร้อมและมีบทบาทในการนำเสนอความคิดเห็น และร่วมพัฒนาโรงเรียน
มาตรการ
๑. สนับสนุนกิจกรรมของคณะกรรมการนักเรียน และผู้แทนนักเรียนประเภทต่างๆ ในการเข้ามีส่วนร่วมการสนับสนุน วิถีประชาธิปไตย บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม และเสริมสร้างคุณธรรม ความรักชาติ
๕. ร้อยละ ๑๕ ของสถานศึกษามีการสนับสนุน ของผู้ปกครอง ชุมชน และสมาคม เพื่อการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมจัด และส่งเสริม การจัดการศึกษาที่เกี่ยวข้อง
มาตรการ
๑. เครือข่ายผู้ปกครอง องค์กรนักเรียนมีส่วนร่วมในการสนับสนุน และส่งเสริมกิจการสถานศึกษาตามขอบข่าย
๖. ทุกหน่วยงานในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญอย่างพอเพียง มีโครงสร้างที่เหมาะสม มีการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาลและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
มาตรการ
๑. บุคลากรตามโครงสร้างของหน่วยงานมีส่วนร่วมกำหนดเป้าหมายและกิจกรรมการทำงานในแผนปฏิบัติการประจำปีและสามารถดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่ระบุไว้ได้ โดยได้มีการรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณและการดำเนินงานต่อสาธารณชน
กลยุทธ์ที่ ๖ เร่งพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิตนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
เป้าหมายความสำเร็จ
๑. นักเรียนมีอัตราการเข้าเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและปฐมวัยเพิ่มขึ้น
มาตรการ
๑. สนับสนุนให้มีการจัดการศึกษาระดับอนุบาล ๓ ขวบ ตามความต้องการของชุมชน
๒. สนับสนุนให้นักเรียนในวัยเรียนได้เข้าเรียนในสถานศึกษาที่สอนสายสามัญจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
๓. สนับสนุนนักเรียนที่เรียนดี ความประพฤติดีได้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในสถานศึกษามีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ
๔. สนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี ประพฤติดี และผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบ
๕. เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับชุมชน โดยสนับสนุน ให้สถานศึกษาพัฒนา และใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและความต้องการ ของชุมชน
๒. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ มีร้อยละของการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น
มาตรการ
๑. เร่งพัฒนาคุณภาพนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาให้มีความพร้อมที่จะเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา
๒. พัฒนาคุณภาพทางวิชาการแก่ครูผู้สอนในระดับมัธยมศึกษาทุกกลุ่มสาระ
๓. ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาและมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
มาตรการ
๑. เสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา
๒. สนับสนุนสวัสดิการและสวัสดิภาพให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่

1 comment:

Anonymous said...

ขอบคุณมาก ๆ นะครับ