Friday, November 28, 2008

แนวการอ่านเพื่อสอบผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ฯ

เล็กๆน้อยๆ ได้จากผู้มีประสบการณ์การสอบซึ่งปัจจุบัน ท่านเป็นผอ.เขตฯแล้ว(ขอสงวนนามครับ)
รวมถึงได้พูดคุยกับท่านรองผอ.เขตที่เคยไปสอบผอ.เขต ซึ่งบางท่านสอบได้แต่ไม่ได้บรรจุ ได้แนวทางการอ่านหนังสือเตรียมสอบ ดังนี้
1.เรื่องที่ควรอ่านและจดจำ คือ หลักสูตรที่กำหนดไว้ให้อ่านในประกาศ ได้แก่ กฎหมาย ระเบียบการ ข้อหารือของหน่วยงานซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตอบเป็นเฉพาะที่ปฏิบัติแล้วมีปัญหา โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับหน่วยงานราชการอื่น อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย หรือแม้แต่ในสำนักของศธ. เอง เช่น กคศ กฎหมายเกี่ยวกับคดีความ คดีละเมิด โดยเฉพาะเกี่ยวกับผู้บริหารหน่วยงานโดยตรง กฎหมายทางการศึกษา พรบ.ครูฯ พรบ.แบ่งส่วนราชการในกระทรวง หน่วยงาน ,พรบ.ลูกเสือ พรบ.เอกชน พรบ.กศน. พรบ.ครู ที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง2551 เรื่องวินัยและการรักษาวินัย สรุปคือ ต้องรู้หลักกฎหมายครู (รัฐธรรมนูญ ไม่ค่อยถามถึง เรื่องที่ไม่ค่อยออก สอบมา 3 รอบ คือ การเชิญธง ระเบียบการแต่งกายของข้าราชการ)
2.เรื่องงานในหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในฐานะผอ.เขต และผอ.โรงเรียนอันเกี่ยวข้องกับงานในฐานะการบริการประชาชน ต้องตอบให้เป็นไปตามกฎหมาย น่าจะหมายถึง พรก.ว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
3.ข่าวสารบ้านเมือง ณ วันเวลาที่ใกล้วันจะสอบ ต้องอ่านหนังสือพิมพ์ สกรุปข่าว ดูทีวี แล้วสังเคราะห์ความคิด ไปตอบคำถาม
ตัวอย่างคำถาม ซึ่งมักจะเล่นวลีเสมอ ต้องคิดให้ดีๆ ก่อนตอบ
1.การแบ่งกลุ่มงานในเขต เป็นอย่างไรบ้าง ใครเป็นผู้กำหนด (ประกาศเป็นกฎกระทรวงหรือเปล่า?)
2.การแบ่งกลุ่มงานในโรงเรียน งานใดอยู่ในกลุ่มงานไหน เช่น งานระดมทรัพยากร อยู่กลุ่มงานไหน งานรับนักเรียน งานสำมะโนนักเรียน งานขยายชั้นเรียน
3.กรรมการเขตพื้นที่ฯ /กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (องค์คณะบุคคล)/อกคศ.มีจำนวนเท่าใด มาจากส่วนไหนบ้าง กรรมการที่มาจากอปท. เป็นระดับผู้บริหารหรือตัวแทน ฯลฯ เป็นต้น
4.หลักสูตรสถานศึกษา หลักสูตรแกนกลาง 51(อันนี้ใหม่มากต้องอ่านทำความเข้าใจ ตอนยังไม่ประกาศใช้ก็ออกแล้ว ต้องอ่านแล้วเปรียบเทียบกับฉบับเก่าด้วย) คิดเวลาเรียน ผลการเรียนเป็นหน่วยกิต วัดผลตามหลักสูตรเป็นอย่างไร แต่ละช่วงชั้นที่กำหนดไว้ ใช้ปีการศึกษาไหน
5.การบริหารการเงินและสินทรัพย์ งานพัสดุออกมาก ถามแม้กระทั่งการแต่งตั้งกรรมการตรวจรับ 1 คน ตรวจรับเท่าไหร่ ครูผู้ช่วย พนักงานบริการ พนักงานราชการ นักการภารโรง ตรวจรับได้หรือไม่ ราคาคอมพิวเตอร์ที่จัดเป็นครุภัณฑ์ ต้องมีราคา 20,000 บาท แต่ราคาครุภัณฑ์เริ่มต้นที่ 5,000 บาท ประมาณนี้ กรณีศึกษาเกี่ยวกับค่าปรับงานจ้างต่างๆ การนับวัน การคิดเงินค่าปรับ บางข้อก็ถามถึงว่าอะไรเป็นครุภัณฑ์ โดยกำหนดสเปคให้เราวินิจฉัย
6.เรื่องอื่นๆที่ง่ายๆ เช่นคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการมีอะไร จำนวนนักเรียนที่จัดต่อห้องเรียนในแต่ละระดับ ใครเป็นผู้อนุมัติให้จัดห้องเรียนห้องละเท่าไหร่ ใครเป็นผู้อนุมัติการจัดซื้อจัดจ้าง การนับเวลาราชการเพื่อการเลื่อนวิทยฐานะ การนับวันเกษียณ (2 ต.ค.นะ ถึงจะเกษียณปีงบประมาณต่อไปได้ ไม่ใช่1 ต.ค. ) อัตราครูต่อจำนวนนักเรียน การแต่งตั้งครูผู้ช่วย ครู คศ.1 ทำอย่างไร
7.การกระจายอำนาจ โรงเรียนนิติบุคคล ทำอะไรได้บ้าง มีอะไรที่ต้องดำเนินการผ่านกรรมการชุดต่างๆ ในด้านการบริหารวิชาการ บุคคล บริหารทั่วไปและงบประมาณ
8.งานบริหารบุคคล (ออกมากๆๆๆ) การแต่งตั้ง ครูผู้ช่วยเป็นคศ. 1 นับวันไหน การลาป่วย ลากิจ ลาพักผ่อน การลาศึกษาต่อได้รับเงินหรือไม่ได้รับเงินเดือนมีเงื่อนไขอะไร มีส่วนเกี่ยวพันกับการเลื่อนวิทยฐานะและการส่งผลงานทางวิชาการ (นับวัน ) เป็นอำนาจของใคร ใครเป็นผู้อนุญาต การเออรี่ การบรรจุเครื่องราชอิสริยาภรณ์ การขอ การประดับสายสะพาย เขาจะหลอกภาม ว่าประดับสายสะพายสายแรกได้ตอนประกาศในราชกิจจาหรือเมื่อได้รับพระราชทานเครื่องราช คำตอบคือ ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม ของปีที่ได้รับ งานวินัย ส่งเสริมวินัยของข้าราชการ
9.งานของศึกษานิเทศก์ มีอะไรบ้าง เกี่ยวกับงานของโรงเรียนตรงไหน
10.งานแผนงาน ที่เกี่ยวกับโรงเรียน การของบประมาณ
11.เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับครู เช่น เรื่องใบประกอบวิชาชีพ จำนวนเงินที่ปรับ มากที่สุด น้อยที่สุด , การทำลายเอกสาร มีข้าราชการระดับใด เป็นประธาน กฎหมายมาตราต่าง ๆ ให้จำให้ดี โรงเรียนเอกชนผอ.เขตตั้ง,คุม ได้ตามพรบ.ร.ร.เอกชน กศน. การศึกษาพิเศษ แต่ละอย่างมีลักษณะการบริหาร จัดการ อย่างไร
สุดท้าย คือ งานบุคคล มักเอาข้อหารือ มาเป็นคำถาม ให้ค้นหาในเวป สพฐ / ศธ / กรมบัญชีกลาง ,กรณีศึกษาเกี่ยวกับคดีความทางแพ่ง ทางวินัย การเงินและพัสดุ และกฎหมายอื่น เช่นกฎหมายเลือกตั้ง อปท. จำนวนตัวเลขต่างๆ ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน การสร้างเสริมวินัยเชิงบวก และสุดท้ายจริงๆ ผู้ตอบคำถาม ต้องใช้สติปัญญาและไหวพริบ(ผสมสมรรถนะผู้บริหาร-เหมือนข้อสอบภาค ก ผู้บริหารสถานศึกษา(คนจะตกเยอะโดยไม่รู้ตัว นึกเอาเองว่าตัวเองตอบถูก)(ฮา...) ดูเจตนารมณ์ของผู้ออกข้อสอบว่าเขาถาม Main Idea ใด และอย่าด่วนตัดสินในการตอบ(ความสะเพร่า)(ไม่ฮา..) เพราะบางทีอักขระหรือคำ เพียงหนึ่งเดียว ทำให้ความหมายเปลี่ยน

.......................................ด้วยรักและศรัทธา.....


Monday, November 24, 2008

การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน(SBM)

การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (SBM)
ความเป็นมา
การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานเป็นแนวคิดในการบริหารโรงเรียนที่ริเริ่มใน ประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1980 แล้วแพร่หลายไปยังประเทศอื่น แนวความคิดนี้มีความเชื่อมโยงกับการปฏิรูปการศึกษาและการกระจายอำนาจทางการศึกษา ซึ่งเกิดจากความไม่พอใจของผู้เกี่ยวข้องกับระบบการบริหารจัดการศึกษาของรัฐ มีการศึกษาและผลักดันให้เกิดนโยบายที่ชัดเจนและต่อเนื่องปัจจุบันมีการบริหารโดยใช้ โรงเรียนเป็นฐานครอบคลุมทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาแพร่หลายไปยังประเทศอื่น ๆ รวมทั้งกำลังจะถูกนำมาใช้ในประเทศไทยตามสาระบัญญัติของพระราชบัญญัติการศึกษา แห่งชาติพ.ศ.2542 มาตรา 40 ตั้งแต่เดือนสิงหาคมพ.ศ.2545 เป็นต้นไป

แนวความคิดพื้นฐาน
แนวคิดเรื่องการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานนั้นได้รับอิทธิพลมาจากกระแส การเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จจาก หลักการ วิธีการ และกลยุทธ์ในการทำให้องค์การมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ผลการปฏิบัติงานมีคุณภาพ สร้างกำไรและสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าและผู้เกี่ยวข้องยิ่งขึ้นความสำเร็จดังกล่าวนี้ทำให้ ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องเห็นว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้นนั้น ต้องปรับกระบวนการ และวิธีการที่เคยเน้นแต่เรื่องการเรียนการสอนปรับไปสู่การบริหารโดยการกระจายอำนาจไปยัง โรงเรียนที่เป็นหน่วยปฏิบัติและให้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการบริหารและจัดการศึกษา อย่างแท้จริง
ความหมาย
จากการประมวลแนวความคิดของนักวิชาการและองค์การต่าง ๆ จำนวนมาก อาจสรุปได้ว่าการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานเป็นกลยุทธ์ในการปรับปรุงการศึกษา โดยเปลี่ยนอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจจากส่วนกลางไปยังแต่ละโรงเรียน โดยให้คณะกรรมการโรงเรียน (School Council หรือ School Board) ซึ่งประกอบด้วย ผู้ปกครอง ครู สมาชิกในชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ศิษย์เก่า และผู้บริหารโรงเรียน (บางโรงเรียนมีตัวแทนนักเรียนเป็นกรรมการด้วย) ได้มีอำนาจในการบริหารจัดการศึกษา ในโรงเรียน มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ บุคลากร และวิชาการ โดยให้เป็นไปตามความต้องการของนักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน
หลักการ
หลักการสำคัญในการบริหารแบบ (School-Based Management) โดยทั่วไป ได้แก่
1) หลักการกระจายอำนาจ (Decentralization) ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจการจัดการ ศึกษาจากกระทรวงและส่วนกลางไปยังสถานศึกษาให้มากที่สุด โดยมีความเชื่อว่าโรงเรียนเป็น หน่วยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการศึกษาเด็ก
2) หลักการมีส่วนร่วม (Participation or Collaboration or Involvement) เปิดโอกาส ให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมในการบริหาร ตัดสินใจ และร่วมจัดการศึกษา ทั้งครูผู้ปกครองตัวแทนศิษย์เก่าและตัวแทนนักเรียนการที่บุคคลมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา จะเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของและจะรับผิดชอบในการจัดการศึกษามากขึ้น
3) หลักการคืนอำนาจจัดการศึกษาให้ประชาชน
(Return Power to People) ในอดีตการจัดการศึกษาจะทำหลากหลายทั้งวัดและองค์กรในท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ ต่อมามีการร่วมการจัดการศึกษาไปให้กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เกิดเอกภาพและมาตรฐาน ทางการศึกษา แต่เมื่อประชากรเพิ่มขึ้น ความเจริญต่าง ๆ ก้าวไปอย่างรวดเร็ว การจัดการศึกษา โดยส่วนกลางเริ่มมีข้อจำกัดเกิดความล่าช้าและไม่สนองความต้องการของผู้เรียนและชุมชน อย่างแท้จริง จึงต้องมีการคืนอำนาจให้ท้องถิ่นและประชาชนได้จัดการศึกษาเองอีกครั้ง
4) หลักการบริหารตนเอง (Self-managing) ในระบบการศึกษาทั่วไป มักจะกำหนด ให้โรงเรียนเป็นหน่วยปฏิบัติตามนโยบายของส่วนกลาง โรงเรียนไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง สำหรับการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานนั้นไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย และนโยบายของส่วนรวม แต่มีความเชื่อว่าวิธีการทำงานให้บรรลุเป้าหมายนั้นทำได้หลายวิธี การที่ส่วนกลางทำหน้าที่เพียงกำหนดนโยบายและเป้าหมายแล้วปล่อยให้โรงเรียนมีระบบ การบริหารด้วยตนเอง โดยให้โรงเรียนมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินงาน ซึ่งอาจดำเนินการได้หลากหลายด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน แล้วแต่ความพร้อมและสถานการณ์ ของโรงเรียนผลที่ได้น่าจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมที่ทุกอย่างกำหนดมาจากส่วนกลาง ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม
5) หลักการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check and Balance) ส่วนกลางมีหน้าที่กำหนด นโยบายและควบคุมมาตราฐาน มีองค์กรอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพการบริหารและ การจัดการศึกษาเพื่อให้มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นไปตามกำหนดและมาตรฐานเป็นไปตามกำหนด และเป็นไปตามนโยบายของชาติ จากหลักการดังกล่าวทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน จะเป็นการบริหารงานที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่ารูปแบบการจัดการศึกษา ที่ผ่านมา
รูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
จากการศึกษาพบว่า มีรูปแบบที่สำคัญอย่างน้อย 4 รูปแบบ ได้แก่
1) รูปแบบที่มีผู้บริหารโรงเรียนเป็นหลัก
(Administration Control SBM) ผู้บริหารเป็นประธานคณะกรรมการ ส่วนกรรมการอื่น ๆ ได้จากการเลือกตั้งหรือคัดเลือกจาก กลุ่มผู้ปกครอง ครู และชุมชน คณะกรรมการมีบทบาทให้คำปรึกษาแต่อำนาจการ ตัดสินใจยังคงอยู่ที่ผู้บริหารโรงเรียน
2) รูปแบบที่มีครูเป็นหลัก (Professional Control SBM) เกิดจากแนวคิดที่ว่า ครูเป็นผู้ใกล้ชิดนักเรียนมากที่สุดย่อมรู้ปัญหาได้ดีกว่าและสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด ตัวแทนคณะครูจะมีสัดส่วนมากที่สุดในคณะกรรมการโรงเรียน ผู้บริหารยังเป็นประธาน คณะกรรมการโรงเรียนบทบาทของคณะกรรมการโรงเรียนเป็นคณะกรรมการบริหาร
3) รูปแบบที่ชุมชนมีบทบาทหลัก (Community Control SBM) แนวคิดสำคัญ คือ การจัดการศึกษาควรตอบสนองความต้องการและค่านิยมของผู้ปกครองและชุมชนมากที่สุด ตัวแทนของผู้ปกครอง และชุมชนจึงมีสัดส่วนในคณะกรรมการโรงเรียนมากที่สุด ตัวแทนผู้ปกครองและชุมชนเป็นประธานคณะกรรมการโดยมีผู้บริหารโรงเรียนเป็นกรรมการ และเลขานุการ บทบาท หน้าที่ของคณะกรรมการ โรงเรียนเป็นคณะกรรมการบริหาร
4) รูปแบบที่ครูและชุมชนมีบทบาทหลัก (Professional Community Control SBM) แนวคิดเรื่องนี้เชื่อว่าทั้งครูและผู้ปกครองต่างมีความสำคัญในการจัดการศึกษาให้แก่เด็ก เนื่องจากทั้ง2กลุ่มต่างอยู่ใกล้ชิดนักเรียนมากที่สุดรับรู้ปัญหาและความต้องการได้ดีที่สุดสัดส่วน ของครูและผู้ปกครอง (ชุมชน) ในคณะกรรมการโรงเรียนจะมีเท่า ๆ กันแต่มากกว่าตัวแทน กลุ่มอื่น ๆ ผู้บริหารโรงเรียนเป็นประธานบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการโรงเรียนเป็น คณะกรรมการบริหาร
แนวทางการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในประเทศไทย
1) หลักการ
หลักการพื้นฐานในการกำหนดรูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ได้แก่
1)หลักการกระจายอำนาจ

2)หลักการมีส่วนร่วม
3)หลักการคืนอำนาจจัดการศึกษา ให้ประชาชน
4) หลักการบริหารตนเอง
5) หลักการตรวจสอบและถ่วงดุล
2) รูปแบบที่เหมาะสมกับริบทและกฎหมายการศึกษาของไทยในปัจจุบัน คือ รูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานที่มีชุมชนเป็นหลัก (Community Control SBM) คณะกรรมการสถานศึกษาประกอบด้วยกรรมการที่เป็นตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ 6 กลุ่ม ได้แก่ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนครู ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนศิษย์เก่าของสถานศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ กลุ่มละไม่น้อยกว่า 2 คน และมีจำนวนเท่า ๆ กัน ให้คณะกรรมการสถานศึกษาเลือกกรรมการคนหนึ่งมีจำนวนเท่า ๆ กัน ให้คณะกรรมการสถานศึกษาเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธาน และอีกคนหนึ่งเป็น รองประธาน โดยผู้บริหารสถานศึกษาเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยตำแหน่ง สำหรับจำนวนคณะกรรมการสถานศึกษาควรอยู่ในดุลพินิจและขึ้นอยู่กับขนาดของโรงเรียน ซึ่งควรอยู่ระหว่าง 13-19 คน คณะกรรมการมีวาระการทำงาน 2 ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้
3) วิธีการได้มา
สถานศึกษาแต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่ง ทำหน้าที่สรรหากรรมการที่เป็นผู้แทนจาก กลุ่มบุคคลต่างๆทั้ง 6 กลุ่มทั้งนี้อาจทำได้โดยการเลือกตั้งหรือการสรรหาและแต่งตั้งแล้ว แต่ความเหมาะสมเมื่อได้รายชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งแล้วผู้บริหารสถานศึกษาเสนอให้ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้แต่งตั้ง
4) บทบาทหน้าที่
ให้คณะกรรมการสถานศึกษามีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ ทั้งการเป็นคณะกรรมการบริหารสถานศึกษาและการเป็นที่ปรึกษาแก่ผู้บริหารสถานศึกษา โดยให้มีบทบาทหน้าที่ทั่วไปบทบาทหน้าที่ในการบริหารสถานศึกษาทั้งด้านวิชาการบุคลากร ธุรการ งบประมาณ อาคารสถานที่ บริการ แผนงานและโครงการ ศาสนา และวัฒนธรรม
กลยุทธ์ในการนำรูปแบบบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานไปปฏิบัติ กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่

1) การประชาสัมพันธ์
2) กำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ สถานศึกษาให้ชัดเจน
3)การสรรหาและการคัดเลือกคณะกรรมการสถานศึกษา
4)การพัฒนาคณะกรรมการสถานศึกษา

5)การสนับสนุนให้บุคลากรในสถานศึกษาร่วมปฏิบัติ งานกับคณะกรรมการสถานศึกษา
6) การสร้างเครือข่ายคณะกรรมการสถานศึกษา
7)การกำหนดมาตรฐานการดำเนินงานของคณะกรรมการสถานศึกษา
8) พิจารณาให้สวัสดิการ บริการและสิทธิพิเศษแก่คณะกรรมการสถานศึกษา
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
1) สถานศึกษาควรใช้หลักการบริหาร 2 ประการ คือ หลักการบริหารตนเอง (Self-Management) ให้สถานศึกษามีอิสระในการบริหารจัดการ และหลักธรรมาภิบาล (GoodGovernance)ให้มีการบริหารจัดการที่ดียึดคุณธรรมโปร่งใสและสนองประโยชน์ต่อองค์การชุมชนและประเทศชาติ
2) ควรเตรียมความพร้อมด้านระบบและบุคลากรมีการจัดระบบบริหารที่มีประสิทธิภาพ มีการเตรียมความพร้อมแก่ผู้บริหารโรงเรียน ครู และประชาชนให้มีความรู้ ความสามารถในการจัดการก่อนทำหน้าที่คณะกรรมการสถานศึกษา
3) ควรดำเนินโครงการนำร่องการบริหารจัดการในระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับสถานศึกษาโดยเน้นการกระจายอำนาการศึกษาและการบริหารแบบ
SBM ควรกำหนดบทบาทหน้าที่ระเบียบและแนวปฏิบัติต่าง ๆ โดยละเอียดในกฎกระทรวงและ กฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนที่สถานศึกษาต่างๆจะนำรูปแบบการบริหารแบบ SBM ไปใช้

Saturday, November 22, 2008

การทำงานเป็นทีม(Team work Competency)

การทำงานเป็นทีม
การทำงานเป็นทีมเป็นวิธีที่ดีในการดึงขีดความสามารถของบุคคลมาใช้ ทีมที่มีสมรรถนะการทำงานสูงต้องมีความเชื่อถือ ไว้วางใจซึ่งกันและกันในระหว่างสมาชิกของทีม โดยมีองค์ประกอบพื้นฐานของแนวความคิดเกี่ยวกับความไว้วางใจ 5 ประการ ดังนี้
ความไว้วางใจ(trust)
1.ความซื่อสัตย์ (Integrity)
2.ความสามารถ(Competence)
3.ความคงเส้นคงวา(Consistency)
4.ความจงรักภักดี(Loyalty)
5.เปิดเผย(Openness)
แสดงทัศนะของความเชื่อถือไว้วางใจ (Dimensions Of trust) (Robbins. 1996 : 356)
1. ความซื่อสัตย์ (Integrity) : ความซื่อสัตย์และความจริงใจ
2. ความสามารถ (Competence) : ความรู้และทักษะทางเทคนิคและการสื่อสารระหว่างบุคคล
3. ความคงเส้นคงวา (Consistency) : ความไว้วางใจได้ ความสามารถคาดคะเนได้ ความสามารถในการใช้วิจารณญาณที่ดีในสถานการณ์ต่าง ๆ
4. ความจงรักภักดี (Loyalty) : ความเต็มใจที่จะปกป้องและช่วยเหลือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

5. ความเป็นคนเปิดเผย (Openness) : ความเต็มใจที่จะแลกเปลี่ยนความคิดและข่าวสารข้อมูลอย่างเต็มที่
ทัศนะ 5 ประการนี้มีการจัดลำดับความสำคัญโดย (1) ความซื่อสัตย์จะมีความสำคัญมากกว่าความสามารถ (2) ความสามารถจะมีความสำคัญมากกว่า ความจงรักภักดี (3) ความจงรักภักดีจะมีความสำคัญมากกว่าความคงเส้นคงวา (4) ความคงเส้นคงวามีความสำคัญมากกว่าความเป็นคน เปิดเผย ความซื่อสัตย์และความสามารถเป็นสิ่งสำคัญสุด เพื่อการตัดสินใจเลือกบุคคลที่มีความเชื่อถือไว้วางใจในใครคนใดคนหนึ่ง ความซื่อสัตย์ดูเหมือนจะถูกให้คะแนนสูงสุด เพราะว่าคนที่ปราศจากการรับรู้ในระบบคุณธรรมและไม่มีพื้นฐานแห่งความซื่อสัตย์แล้วก็จะไม่เกิดความเชื่อถือไว้วางใจต่อกัน
แล้วจะสร้างความเชื่อถือไว้วางใจได้อย่างไร (How do you build trust ? )
แนวทางการสร้างความเชื่อถือไว้วางใจในทีมงาน สามารถกระทำได้ ดังนี้
1. การให้บุคคลอื่นได้รู้ว่าท่านให้ความสนใจในสิ่งที่เขาสนใจ
2. การทำงานเป็นทีม ให้การสนับสนุน ตลอดจนใช้คำพูดและการกระทำปกป้องทีมงานและสมาชิกในทีมงาน ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นการแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของทีมงาน
3. การเป็นคนเปิดเผย จะนำไปสู่ความไว้วางใจซึ่งกันและกันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นดังนั้นจึงควรอธิบายการตัดสินใจอย่างซื่อตรงและเปิดเผยเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อจะได้ร่วมกันระดมความคิด (Brain storming) เพื่อหาทางแก้ไขที่เหมาะสมต่อไป
4. มีความยุติธรรม ก่อนการตัดสินใจหรือกระทำการใด ๆ พึงพิจารณาว่าคนอื่น ๆ จะรับรู้หรือรู้สึกว่ามีความยุติธรรมหรือไม่ ให้ความยุติธรรมในการประเมินผลโดยยึดหลักความเสมอภาคหรือความเป็นธรรมในการให้รางวัล
5. พูดตรงตามความรู้สึกของตนเอง การพูดอย่างจริงใจจะทำให้เกิดความเคารพผู้พูดมากขึ้น
6. แสดงความคงเส้นคงวาในคุณค่าอันเป็นพื้นฐานซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจ ใช้เวลาคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นคุณค่าและเป็นที่เชื่อถือแล้วนำมาเป็นเครื่องชี้การตัดสินใจโดยต้องรู้ถึงความประสงค์ แล้ววางโครงการซึ่งจะนำไปสู่ความเชื่อถือความไว้วางใจ
7. สร้างความเชื่อมั่น โดยการปฏิบัติตนให้เป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจจากบุคคลในทีมงาน และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กันและกัน
8. แสดงให้เห็นถึงความสามารถ ทำให้คนอื่นมีความชื่นชมและความเคารพนับถือโดยการแสดงให้เห็นถึงความสามารถด้านอาชีพและเทคนิคต่าง ๆ ความรู้สึกที่ดีต่อธุรกิจ ให้ความสนใจในการพัฒนาการสื่อสาร การสร้างทีมงาน และทักษะการสรางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
การทำงานเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นทีมงานนั้นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในทีมงาน มีการให้ข้อมูลแก่กันและกัน รวมถึงต้องเผชิญกับความแตกต่างของแต่ละคนด้วยไม่ว่าจะเป็น ในด้าน อุปนิสัย ทัศนคติ ความสนใจ และการแสดงออก ของแต่ละคน
 ในทุกวันของการทำงานดูเหมือนว่ามีการทำงานเป็น “ทีมงาน” แต่จริง ๆ แล้วอาจเป็นเพียง “กลุ่มงาน” เท่านั้น
 แล้วทีมงานกับกลุ่มงานแตกต่างกันอย่างไร (Teams VS Groups : What is the difference ?)
กลุ่มงาน (Work group) คือ กลุ่มซึ่งมีกิจกรรมระหว่างกันเพื่อใช้ข้อมูลร่วมกันในการ ตัดสินใจช่วยเหลือให้สมาชิกแต่ละคนทำงานภายในขอบข่ายที่เขารับผิดชอบ
กลุ่มงานไม่จำเป็นต้องใช้ความพยายามในการทำงานร่วมกัน ดังนั้นจึงมีลักษณะคล้ายกับการที่สมาชิกแต่ละคนมีการช่วยเหลือกันตามส่วนที่ได้รับแบ่งความรับผิดชอบ ไม่มีการเชื่อมโยงทรัพยากรและใช้ร่วมกันอย่างมีประสิทธิผลในทางบวกซึ่งจะสร้างระดับของสมรรถนะที่มากกว่าผลรวมของปัจจัย นำเข้า
ทีมงาน (Work team, Team work) เป็นการเชื่อมโยงและใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดผลจากการใช้ความพยายามของแต่ละบุคคลรวมกัน หรือหมายถึงกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันทำงานให้สำเร็จ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในองค์กรหรือสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่องค์การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

ลักษณะของกลุ่มงาน(Work Groups)
1.เป้าหมาย(Goal) = มีการแบ่งปันข้อมูล(Share information)
2.คุณค่า(พลัง)ในการใช้ทรัยากรร่วมกัน(Synergy)= เป็นกลาง บางครั้งเป็นลบ[Neutral (Sometimes negative)]
3.ความรับผิดชอบในการทำงาน(Accountability) =ทำงานส่วนบุคคล(Individual
4.ทักษะ(Skills)= ไม่สม่ำเสมอ(Random and varied)
ลักษณะของทีมงาน(Work Teams)
1.เป้าหมาย (Goal)=ลักษณะการทำงานร่วมกัน(Collective Performance)
2.คุณค่า(พลัง)ในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน(Synergy)=เป็นบวก(Positive)
3.ความรับผิดชอบในการทำงาน(Accountability)=ส่วนบุคคลและร่วมมือ(Individual and mutual)
4.ทักษะ(Skills)=มีการพัฒนาอยู่เสมอ(Complementary)
(ด้านบนแสดงการเปรียบเทียบกลุ่มงานและทีมงาน) (Comparing work groups and work team)(Robbins. 1996 : 348)
ในการทำงานเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นทีมงานนั้นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในทีมงานมีการให้ข้อมูลแก่กันและกัน และต้องยอมรับความแตกต่างของแต่ละคนด้วย เพื่อให้สามารถดึงศักยภาพของแต่ละคนในทีมงานออกมาให้ได้มากที่สุด

ร.ท.หญิง หยาดพิรุณ ส่อสืบ
เรียบเรียงจาก : หนังสือพฤติกรรมองค์การ
Organizational Behavior (OB)

Tuesday, November 18, 2008

กางนโยบายของบารัก โอบามา(Barak Obama)

นโยบายการศึกษาของโอบามา
ได้อ่านพบกันทุกวันอังคารของท่านเลขา สพฐ. เสนอแนะให้ไปอ่านนโยบายการศึกษาของโอบามา จึงตามไปดูว่ามันอะไรกันนักกันหนา ทำไมท่านไม่แปลมาเผยแพร่ให้สมกะที่ท่านจบด๊อกเตอร์จากอเมริกา

K - 12 (ตั้งแต่ระดับอนุบาลศึกษา ถึงเกรด 12)
ข้อ 1 ปฏิรูปไม่ให้มีเด็กถูกทอดทิ้ง (Reform No Child Left Behind) โอบามาจะเปลี่ยนแปลงกฏหมาย โดยเชื่อว่าครูไม่ควรยัดเยียดการใช้เวลาของนักเรียนแต่ละปีการศึกษาเพื่อตอบแบบทดสอบมาตรฐานอย่างไร้สาระ(ทำแบบทดสอบมาตรฐานมากเกินไป) โอบามาจะยกระดับการทดสอบเพื่อใช้สำหรับการพัฒนาความก้าวหน้าของผู้เรียนสู่ระดับวิทยาหรือสถานประกอบการ ยกระดับการเรียนของผู้เรียนให้เหมาะกับเวลาและศักยภาพของบุคคล โอบามาจะจัดการนโยบายนี้อย่างโปร่งใส โดยสนับสนุนการปรับปรุงตามที่โรงเรียนต้องการมากกว่าการลงโทษ
ข้อ 2 สนับสนุนโรงเรียนที่มีคุณภาพสูงและยกเลิกใบอนุญาตโรงเรียนที่มีคุณภาพต่ำ
ข้อ 3 ทำการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ให้เป็นวาระแห่งชาติ ฯลฯ
ด้านครู
1.การสรรหาครู (Recruit Teachers)
2.การเตรียมครูให้มีความพร้อม (Prepare Teachers)
3.การสงวนรักษาครู (Retain Teachers)
4.การให้รางวัลครู (Reward Teachers)
ขณะที่ประเทศไทยกำลังทดสอบ NT , O-Net , A-Net และกำลังจะกลายเป็นธุรกิจการศึกษาที่มีวงเงินมหาศาล บางบริษัทกำลังจัดสอบ Pre-O-Net หรือ Pre-A-Net แปลว่าสอบกันให้ตายไปข้างหนึ่งเลย เด็ก ๆ ไม่ต้องคิดอะไรแล้ว นอกจากใจจดจ่อกับการสอบ ไม่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ต้องคิดที่จะประดิษฐ์คิดค้นอะไรใหม่ ๆ คิดอย่างเดียวคือ สอบ สอบ และสอบ
(4 บรรทัดท้ายๆนั้น เป็นแนวคิดของผู้เขียนบทความในเวบครูบ้านนอกครับ...โปรดมีวิจารณญาณ..ขอบคุณ ครูบ้านนอกดอทคอม)

Wednesday, November 12, 2008

ประกาศสอบผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 2551

ด่วนที่สุด... คลิ๊กที่นี่..http://www.moe.go.th/webtcs/news51/exam51.pdf

นโยบาย สพฐ.ปีงบประมาณ 2552

แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายของ สพฐ. ปีงบประมาณ ๒๕๕๒
ผลผลิตหลักของ สพฐ. ปี ๒๕๕๒ ผลผลิตจำนวน ๕ ผลผลิต ได้แก่
๑. ผู้จบการศึกษาก่อนประถมศึกษา
๒. ผู้จบการศึกษาภาคบังคับ
๓. ผู้จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย
๔. เด็กพิการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานและพัฒนาสมรรถภาพ
๕. เด็กด้อยโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เป้าหมายการให้บริการของ สพฐ. ๓ ด้าน
๑. ด้านโอกาสทางการศึกษา
๑.๑ ประชากรในวัยเรียนได้รับโอกาสในการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และได้รับโอกาส
ในการศึกษาปฐมวัยอย่างน้อย 1 ปี ก่อนเข้าเรียนในระดับการศึกษาภาคบังคับ
๑.๒ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้เรียนในเขตพื้นที่พิเศษได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาปฐมวัยอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงตามลักษณะของผู้เรียนแต่ละกลุ่มและประเภท
๑.๓ ผู้เรียน ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ
และสอดคล้องกับอัตลักษณ์ วิถีชีวิตและความต้องการของชุมชน
๒. ด้านคุณภาพการศึกษา
๒.๑ ผู้เรียนทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษาปฐมวัย
๒.๒ ครูผู้สอนมีเพียงพอและสามารถจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและให้ความสำคัญกับพื้นฐานและศักยภาพของผู้เรียน
๒.๓ สถานศึกษาทุกแห่งมีระบบประกันคุณภาพภายในและผ่านการประเมินการศึกษาของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา
๓. ด้านประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา ตลอดจนองค์คณะบุคคลตามกฏหมายมีความพร้อม และมีความเข้มแข็งที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามหลักธรรมาภิบาลอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล โดยใช้เครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วน
กลยุทธ์สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ ๒๕๕๒ ๖ กลยุทธ์
๑. ปลูกฝังคุณธรรม ความสำนึกในความเป็นชาติไทย และวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่นักเรียนทุกคน
๒. เพิ่มอัตราการเข้าเรียนในทุกระดับ ทั้งเด็กทั่วไป ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ลดอัตราการออกกลางคัน และ พัฒนารูปแบบการให้บริการการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่เยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา
๓. ยกระดับคุณภาพสถานศึกษาสู่มาตรฐานการศึกษาของชาติ พัฒนาผู้เรียน สมรรถนะครูและบุคลากรอย่างเป็นระบบ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานและปฐมวัย และการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนบรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรการศึกษาอย่างเต็มตามศักยภาพ
๔. เร่งรัดพัฒนาความพร้อมในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้แก่สถานศึกษาและหน่วยงานการศึกษาในสังกัดเพื่อการเรียนรู้และการบริหารจัดการ
๕. สร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารและการจัดการศึกษาเพื่อรองรับการกระจายอำนาจอย่างมีประสิทธิภาพบนหลักธรรมาภิบาลในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา
๖. เร่งพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิตนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษ เฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
กลยุทธ์ เป้าหมายความสำเร็จ และมาตรการ
กลยุทธ์ที่ ๑ ปลูกฝังคุณธรรม ความสำนึกในความเป็นชาติไทย และวิถีชีวิตตาม หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่นักเรียนทุกคน
เป้าหมายความสำเร็จ
๑. นักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ผ่านการประเมินคุณธรรม มีสำนึกในความเป็นชาติไทย สามารถปฏิบัติตนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและวิถีประชาธิปไตย
มาตรการ
๑. สำรวจสภาพการจัดการเรียนการสอนในกลุ่มสาระสังคมศึกษา
๒. ประเมินความเข้าใจของนักเรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้
๓. เสริมประสิทธิภาพในการพัฒนาหลักสูตรแกนกลาง หลักสูตรสถานศึกษา
๔. พัฒนาสื่อและการจัดการเรียนการสอน
๒. ลดจำนวนเยาวชนมีพฤติกรรมเสี่ยง มีโรงเรียนคุณธรรมต้นแบบและโรงเรียนวิถีพุทธต้นแบบผ่านเกณฑ์การประเมิน
มาตรการ
๑. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่งมีข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมเด็กติดเกมส์ การตั้งครรภ์ ปัญหาเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน ความรุนแรงในโรงเรียน และการกระทำผิดในหมู่นักเรียน
๒. จัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมตามนโยบายในแต่ละสถานศึกษา
๓. มีระบบการจัดการความรู้
๔. มีแผนส่งเสริมและติดตามผลการพัฒนาคุณธรรมสู่การปฏิบัติ และเฝ้าระวังปัญหายา เสพติดในโรงเรียน
๓. ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนมีความรู้ความเข้าใจในนโยบาย ประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี และสามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังคุณธรรมได้ตามนโยบาย
มาตรการ
๑. พัฒนาผู้บริหาร และครูให้มีความเข้าใจและมีความพร้อมที่จะจัดกิจกรรมการเรียน การสอน
๒. พัฒนาผู้เรียนเพื่อปลูกฝังคุณธรรม โดยให้ความสำคัญกับสถานศึกษาที่มีข้อมูลพฤติกรรมเสี่ยงของนักเรียนสูง
๔. โรงเรียนทุกแห่งจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังคุณธรรม ความสำนึกในความเป็นชาติไทยและวิถีชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ให้ความสำคัญกับกิจกรรมลดภาวะโลกร้อน โดยมีโรงเรียนผ่านมาตรฐานและสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับโรงเรียนอื่นไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๕๐
มาตรการ
๑. ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาสื่อ
๒. จัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่หลากหลาย โดยเฉพาะการจัดค่าย การแสดง ลูกเสือ ดนตรี กีฬา เพื่อเป็นแนวทางในการปลูกฝังคุณธรรม ความสำนึกในความเป็นชาติไทย วิถีประชาธิปไตย
๓. จัดกิจกรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษา ขั้นพื้นฐาน
๔. ให้ความสำคัญแก่การสร้างเสริมจิตสำนึกในความเป็นชาติไทยเป็นพิเศษในปีงบประมาณ ๒๕๕๒
๕. โรงเรียนทุกแห่งมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และโรงเรียนที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลายสามารถพัฒนาระบบได้มาตรฐานไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๓๐
มาตรการ
๑. สนับสนุนการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนทุกแห่ง โดยให้ความสำคัญกับโรงเรียนที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลายอย่างครบวงจร และประเมินมาตรฐานของระบบเป็นรายโรงเพื่อพัฒนาต่อยอด
๒. ส่งเสริมให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาทำงานเป็นเครือข่ายกับสถาบันทางศาสนา ผู้ปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมคุณธรรมและแก้ปัญหาพฤติกรรมของครูและบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน
กลยุทธ์ที่ ๒ เพิ่มอัตราการเข้าเรียนในทุกระดับ ทั้งเด็กทั่วไป ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ลดอัตราการออกกลางคัน และพัฒนารูปแบบการให้บริการการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่เยาวชนที่อยู่ นอกระบบการศึกษา
เป้าหมายความสำเร็จ
๑. เพิ่มอัตราการเข้าเรียนภาคบังคับโดยรวม ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๙๐ โดยไม่มีตำบลใดที่มีอัตราการเข้าเรียน
การศึกษาภาคบังคับต่ำกว่าร้อยละ ๘๐ และลดอัตราการออกกลางคันให้เหลือไม่เกินร้อยละ ๐.๘ และเพิ่มอัตราการเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ เรียนต่อมัธยมศึกษาตอนปลายทุกสังกัดไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐

มาตรการ
๑. ปรับปรุงระบบข้อมูลและระบบวางแผนเพื่อเพิ่มอัตราการเข้าเรียน อัตราการเรียนต่อ การพัฒนาสถาน ศึกษา การขยายบริการทางการศึกษา และการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมกับสภาพในแต่ละเขตพื้นที่
๒. ปรับปรุงและกำกับแนวปฏิบัติเรื่องการรับนักเรียนให้โปร่งใส เป็นธรรม และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ จัดทำแผนยุทธศาสตร์และสนับสนุนการขยาย จัดตั้งและพัฒนาโรงเรียนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในโอกาสและคุณภาพการศึกษา
๓. สนับสนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนที่ด้อยโอกาสและผู้มีความต้องการพิเศษอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
๔. แสวงหาแนวทางสนับสนุนโรงเรียนให้สามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพโดยไม่ต้องเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อเสนอขอความสนับสนุนจากรัฐบาล
๕. ส่งเสริมการจัดและมีส่วนร่วมจัดในการจัดการศึกษา โดยบุคคล ครอบครัว สถานประกอบการ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
๒. เพิ่มจำนวนผู้เรียนที่พิการผู้ด้อยโอกาส ผู้ตกหล่น ผู้ออกกลางคันและอยู่นอกระบบโรงเรียนให้ได้รับบริการทางการศึกษาทั้งในพื้นที่ทั่วไปและพื้นที่พิเศษ
มาตรการ
๑. ขยายบริการทางการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีปัญหาทางการ เรียนรู้ ทางสติปัญญาและอารมณ์เด็กและเยาวชนที่เจ็บป่วยในโรงพยาบาล ตลอดจนสนับสนุนและประสานการระดมทรัพยากร สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการตามสภาพความจำเป็น ในการเรียนรู้
๒. สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาเพื่อเข้าถึงเด็กและเยาวชนผู้พิการ ผู้มีความต้องการพิเศษ ผู้ด้อยโอกาส และผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร
๓. พัฒนาระบบที่จะสนับสนุนปัจจัยสำหรับผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มเป้าหมายพิเศษตามความจำเป็น เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการรับการศึกษา 12 ปี
๔. ขยายเครือข่ายโรงเรียนแกนนำเรียนร่วมในการศึกษาระดับปฐมวัย ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย
๓. ร้อยละ ๘๐ ของประชากรวัย ๔ – ๖ ปี ได้รับการศึกษาปฐมวัยอย่างน้อย ๑ ปี โดยให้ความสำคัญแก่ผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มเป้าหมายพิเศษ
มาตรการ
๑. ส่งเสริมให้เด็กอายุช่วงปฐมวัยเข้าเรียนทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชน
๒. สนับสนุนการพัฒนาเด็กปฐมวัย และให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มเป้าหมายพิเศษ
กลยุทธ์ที่ ๓ ยกระดับคุณภาพสถานศึกษาสู่มาตรฐานการศึกษาของชาติ พัฒนาผู้เรียน สมรรถนะครูและ
บุคลากรอย่างเป็นระบบ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และปฐมวัย และการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนบรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรการศึกษาอย่างเต็มตามศักยภาพ
เป้าหมายความสำเร็จ
๑. สถานศึกษาร้อยละ ๘๐ ผ่านเกณฑ์การประเมินมาตรฐานตามระบบประกันคุณภาพ ภายใน และผ่านเกณฑ์การประเมินการรับรองมาตรฐานของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับดีขึ้นไปอย่างน้อยร้อยละ ๘๐ และไม่มีสถานศึกษาใดอยู่ในระดับปรับปรุง
มาตรการ
๑. กำกับ ดูแล ช่วยเหลือเพื่อพัฒนาสถานศึกษาที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานและสถานศึกษาขนาดเล็กตามแผนยุทธศาสตร์โรงเรียนขนาดเล็ก
๒. สนับสนุนการพัฒนาสถานศึกษาที่ได้รับรองตามมาตรฐานการประเมินคุณภาพภายนอกให้พัฒนาต่อยอดสู่ระดับดีและดีมาก โดยมีโรงเรียนดีใกล้บ้านในทุกอำเภอให้เป็นต้นแบบศูนย์การพัฒนาการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระแก่ครูและนักเรียนในพื้นที่ และมีศูนย์ปฐมวัยต้นแบบ สถานศึกษาผู้นำด้านต่างๆ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับสถานศึกษาอื่น
๒. สถานศึกษาทุกแห่งมีอัตราการขาดครูไม่เกินร้อยละ 30 และสถานศึกษาที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย มีครูตรงวุฒิ หรือผ่านการประเมินความรู้ความสามารถตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
มาตรการ
๑. ให้ความสำคัญแก่การพัฒนาระบบข้อมูลและแผนยุทธศาสตร์เพื่อบริหารและพัฒนาครูทั้งระบบ การแก้ปัญหาการขาดแคลนครู การมีครูไม่ตรงวุฒิ และเร่งพัฒนาสมรรถนะครูทุกกลุ่มสาระอย่างครบวงจร
๒. ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการเรียนการสอนในวิชาภาษาอังกฤษ และภาษาจีน
๓. สถานศึกษานำร่องมีหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของสถานศึกษาที่ได้มาตรฐานสอดคล้องกับสภาพปัญหาท้องถิ่น และสามารถจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
มาตรการ
๑. สนับสนุนโรงเรียนนำร่องการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการขยายผลสู่ สถานศึกษาทั่วไป และสถานศึกษาที่จัดการศึกษาพิเศษสำหรับผู้พิการและ ด้อยโอกาส

๔. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาทุกแห่งสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาทุกระดับให้สูงขึ้น และลดจำนวนผู้เรียนที่อยู่ในเกณฑ์ ปรับปรุง
มาตรการ
๑. ปรับปรุงระบบวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ในสถานศึกษา ปรับปรุงระบบเทียบโอนประสบการณ์ และพัฒนาระบบประเมินผลสัมฤทธิ์ออนไลน์เพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนรวมถึงส่งเสริมการประเมินคุณภาพผู้เรียนในระดับเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง
๒. ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้และรูปแบบพัฒนากระบวนการคิด การจัดการเรียนรู้ที่ สอดคล้องกับพัฒนาการทางสมอง การส่งเสริมการอ่าน การศึกษาปฐมวัย การให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นฐานทางอาชีพและการมีงานทำ
๓. ส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษโดยพัฒนาระบบวัดแวว ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน พัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องผู้มีความสามารถพิเศษ และจัดตั้งศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพ ประจำจังหวัด
๔. พัฒนาการเรียนการสอนสำหรับเด็กพิการ และเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ให้ขยายผลได้มากขึ้นส่งเสริมการพัฒนาเครือข่ายเพื่อส่งเสริมคุณภาพ ระบบจัดการความรู้ การจัดเวทีวิชาการสำหรับสถานศึกษา ครู และนักเรียน
๕. ส่งเสริมการพัฒนาเครือข่ายเพื่อส่งเสริมคุณภาพ ระบบจัดการความรู้ การจัดเวทีวิชาการ สำหรับสถานศึกษา ครู และนักเรียน
กลยุทธ์ที่ ๔ เร่งรัดพัฒนาความพร้อมในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้แก่ สถานศึกษาและหน่วยงานการศึกษาในสังกัดเพื่อการเรียนรู้และการบริหารจัดการ
เป้าหมายความสำเร็จ
๑. นักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับทุกคนร้อยละ ๘๐ มีความรู้และมีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ พื้นฐานเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ และนักเรียนที่จบมัธยมศึกษาตอนปลายอย่างน้อยร้อยละ ๔๐ สามารถเขียนโปรแกรมและออกแบบเว็ปเพจได้
มาตรการ
๑. ปรับสาระการเรียนรู้คอมพิวเตอร์และมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นที่สอดแทรกการใช้ ICT เป็นเครื่องมือการเรียนรู้และแสวงหาความรู้ในทุกกลุ่มสาระ
๒. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีศูนย์การเรียนรู้ ICT ในชุมชนและท้องถิ่น
๒. ครูร้อยละ ๗๐ มีความรู้และทักษะพื้นฐานในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอนและการบริหารจัดการ
มาตรการ
๑. พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้และทักษะพื้นฐานในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอนและการบริหารจัดการในสถานศึกษาด้วยวิธีการที่หลากหลาย
๓. สถานศึกษาร้อยละ ๙๐ มีการนำคอมพิวเตอร์ มาใช้เพื่อการบริหารและสถานศึกษาร้อย ละ ๗๐ มีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อการเรียนการสอนในอัตราส่วน ๑ เครื่อง ต่อนักเรียน ๔๐ คน
มาตรการ
๑. สนับสนุนคอมพิวเตอร์ให้กับสถานศึกษา และประสานให้มีการสนับสนุนคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอนและบริหารจัดการจากภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น
๔. สถานศึกษาร้อยละ ๙๐ มีการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และสถานศึกษา ร้อยละ ๙๐ นำ ICT มาช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้
มาตรการ
๑. ปรับเปลี่ยนระบบสื่อสาร ความเร็วอินเทอร์เน็ตในสถานศึกษาทั่วประเทศเป็น ๕๑๒ Mbps และสถานศึกษาตามโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์เป็น ๒ KMbps
๕. สถานศึกษาขนาดเล็ก และสถานศึกษาในพื้นที่ ห่างไกล ร้อยละ ๕๐ มีระบบการศึกษาทางไกล เพื่อ
เสริมคุณภาพการจัดการเรียนการสอน
มาตรการ
๑. เร่งสนับสนุนเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ สื่อ และระบบอินเตอร์เน็ตในสถานศึกษาขนาดเล็กและสถานศึกษาห่างไกลในการนำระบบการศึกษาทางไกลเพื่อเสริมคุณภาพการจัดการเรียนการสอน
๖. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่ง มีศูนย์รวมสื่อเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนให้กับสถานศึกษาได้ทุกกลุ่มสาระ มีศูนย์เครือข่ายการซ่อมบำรุงคอมพิวเตอร์ในเขตพื้นที่การศึกษาและสำนักงานในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไปใช้เพื่อการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรการ
๑. พัฒนา Web Portal
๒. จัดทำ Visual field trip ติวเตอร์ออนไลน์
๓. จัดทำห้องเรียนทันข่าว e-Learning
๔. ส่งเสริมศูนย์ ICT ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
๕. จัดทำฐานข้อมูลและ Back office
๖. จัดทำศูนย์เครือข่ายการซ่อมบำรุงคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี
กลยุทธ์ที่ ๕ สร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารและการจัดการศึกษาเพื่อรองรับการกระจายอำนาจอย่างมีประสิทธิภาพบนหลักธรรมาภิบาลในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา
เป้าหมายความสำเร็จ
๑. ทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสนับสนุน ให้องค์คณะบุคคลตามกฎหมายมีความพร้อมและมีบทบาทในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีเอกภาพและสอดคล้องกัน
มาตรการ
๑. สร้างความเข้มแข็งให้องค์คณะบุคคลในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาโดยองค์คณะบุคคลสามารถทำงานเชิงบูรณาการให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกันและมี ส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
๒. สถานศึกษาที่ผ่าการอบรมผู้นำการเปลี่ยนแปลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๐ ผ่านการประเมินโรงเรียนที่บริหารจัดการแบบโรงเรียนเป็นฐาน และสามารถเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนโรงเรียนอื่นในการพัฒนาคุณภาพ
มาตรการ
๑. สถานศึกษาประเภทที่หนึ่งประเมินตนเองและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตรวจสอบการประเมินตนเองของสถานศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานและมาตรฐาน SBM
๒. ส่งเสริมสถานศึกษาตามความพร้อมของสถานศึกษาในการบริหารจัดการศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานโดยมีสถานศึกษาที่มีความพร้อม เป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนในการพัฒนาคุณภาพ
๓. ทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีระบบเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพระหว่างโรงเรียนประเภทต่างๆ ที่มีความเข้มแข็ง สามารถเป็นกลไกในการจัดการความรู้ พัฒนาคุณภาพ ติดตามดูแลแก้ปัญหา อย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรการ
๑. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาส่งเสริมการทำงานของเครือข่ายสถานศึกษาประเภทที่หนึ่งในภาพรวมจังหวัด
๒. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจัดทำระบบสารสนเทศ รายสถานศึกษาที่เป็นปัจจุบันและนำไปใช้พัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งข้อมูลครูและบุคลากรทางการศึกษารายบุคคลข้อมูลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระวิชาหลักของนักเรียนรายบุคคลและผลการประเมินคุณภาพภายในของสถานศึกษาและผลการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ.
๓. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา นิเทศติดตาม ช่วยเหลือสถานศึกษาประเภทที่สองและเครือข่ายสถานศึกษาประเภทที่สอง
๔. ทุกโรงเรียนมีคณะกรรมการนักเรียนและ ผู้แทนนักเรียนประเภทต่างๆ ซึ่งได้รับการพัฒนาให้มีความพร้อมและมีบทบาทในการนำเสนอความคิดเห็น และร่วมพัฒนาโรงเรียน
มาตรการ
๑. สนับสนุนกิจกรรมของคณะกรรมการนักเรียน และผู้แทนนักเรียนประเภทต่างๆ ในการเข้ามีส่วนร่วมการสนับสนุน วิถีประชาธิปไตย บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม และเสริมสร้างคุณธรรม ความรักชาติ
๕. ร้อยละ ๑๕ ของสถานศึกษามีการสนับสนุน ของผู้ปกครอง ชุมชน และสมาคม เพื่อการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมจัด และส่งเสริม การจัดการศึกษาที่เกี่ยวข้อง
มาตรการ
๑. เครือข่ายผู้ปกครอง องค์กรนักเรียนมีส่วนร่วมในการสนับสนุน และส่งเสริมกิจการสถานศึกษาตามขอบข่าย
๖. ทุกหน่วยงานในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญอย่างพอเพียง มีโครงสร้างที่เหมาะสม มีการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาลและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
มาตรการ
๑. บุคลากรตามโครงสร้างของหน่วยงานมีส่วนร่วมกำหนดเป้าหมายและกิจกรรมการทำงานในแผนปฏิบัติการประจำปีและสามารถดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่ระบุไว้ได้ โดยได้มีการรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณและการดำเนินงานต่อสาธารณชน
กลยุทธ์ที่ ๖ เร่งพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิตนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
เป้าหมายความสำเร็จ
๑. นักเรียนมีอัตราการเข้าเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและปฐมวัยเพิ่มขึ้น
มาตรการ
๑. สนับสนุนให้มีการจัดการศึกษาระดับอนุบาล ๓ ขวบ ตามความต้องการของชุมชน
๒. สนับสนุนให้นักเรียนในวัยเรียนได้เข้าเรียนในสถานศึกษาที่สอนสายสามัญจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
๓. สนับสนุนนักเรียนที่เรียนดี ความประพฤติดีได้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในสถานศึกษามีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ
๔. สนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี ประพฤติดี และผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบ
๕. เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับชุมชน โดยสนับสนุน ให้สถานศึกษาพัฒนา และใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและความต้องการ ของชุมชน
๒. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ มีร้อยละของการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น
มาตรการ
๑. เร่งพัฒนาคุณภาพนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาให้มีความพร้อมที่จะเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา
๒. พัฒนาคุณภาพทางวิชาการแก่ครูผู้สอนในระดับมัธยมศึกษาทุกกลุ่มสาระ
๓. ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาและมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
มาตรการ
๑. เสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา
๒. สนับสนุนสวัสดิการและสวัสดิภาพให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่

Friday, November 7, 2008

กางนโยบายการศึกษา รัฐมนตรี ศรีเมือง เจริญศิริ

นโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต
๓.๑ นโยบายการศึกษา
๓.๑.๑ ลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบครอบคลุมการพัฒนาครู
หลักสูตร สื่อ เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อผลสัมฤทธิ์ด้านคุณภาพและความรู้ของนักเรียนตามแผนการเรียนการสอนอย่างสัมพันธ์กับทรัพยากรและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ อันจะนำไปสู่การสร้างระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน และการเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาในภูมิภาค
๓.๑.๒ จัดให้คนไทยทุกคนมีโอกาสรับการศึกษาไม่น้อยกว่า๑๒ ปีโดยไม่เสีย
ค่าใช้จ่าย
โดยเฉพาะผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก รวมทั้งบุคคลออทิสติก เด็กสมาธิสั้น และผู้ด้อยโอกาสอื่นๆ ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง และเพิ่มโอกาสในการศึกษาต่อผ่านกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาและเชื่อมโยงกับนโยบายการผลิตบัณฑิตเพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถของประเทศ รวมทั้งต่อยอดให้ทุนการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ
๓.๑.๓ ปรับระบบการผลิตและพัฒนาครูให้มีคุณภาพและคุณธรรม
มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม พัฒนาหลักสูตรสื่อการเรียนการสอนให้ทันสมัยและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ควบคู่กับการส่งเสริมการเรียนภาษาไทยและประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างจิตสำนึกในความเป็นไทยพร้อมทั้งขยายบทบาทของระบบการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ผ่านองค์กรต่าง ๆ เช่น สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ระบบห้องสมุดสมัยใหม่ หรืออุทยานการเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ศูนย์พัฒนาด้านกีฬา ดนตรี ศิลปะ
ศูนย์บำบัดและพัฒนาศักยภาพของบุคคลออทิสติก เด็กสมาธิสั้น และผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ
๓.๑.๔ ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้
อย่างจริงจัง ส่งเสริมการใช้สื่อการเรียนรู้ทางไกล จัดให้มีการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างกว้างขวาง จัดหาอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประกอบแผนการเรียนการสอนของครูให้โรงเรียนอย่างทั่วถึง ตลอดจนพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศ
๓.๑.๕ พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสถาบันอุดมศึกษาให้มีความเป็นเลิศด้านการ
ศึกษาวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรม
การให้บริการวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง และการผลิตและพัฒนากำลังคน ให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาคการผลิตและบริการ พร้อมทั้งเร่งผลิตกำลังคนระดับอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพและมีเส้นทางอาชีพที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านต่าง ๆ เช่น ปิโตรเคมีซอฟต์แวร์ อาหาร สิ่งทอ บริการสุขภาพ การท่องเที่ยว และการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการ เป็นต้น ตลอดจนจัดให้มีการรับรองสมรรถนะของบุคคลในการประกอบอาชีพและสานต่อการขยายบทบาทศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน
๓.๑.๖ ส่งเสริมสนับสนุนการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปยังเขตพื้นที่
การศึกษาและสถานศึกษา
รวมทั้งการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการศึกษาอย่างกว้างขวาง ด้วยมาตรการที่เป็นรูปธรรม ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้พร้อมรับการถ่ายโอนการจัดการศึกษา ตลอดจนการปรับระเบียบวิธีเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถสนับสนุนการจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐาน
๓.๑.๗ ส่งเสริมกลไกการบริหารจัดการศึกษาทั้งระบบโดยครอบคลุมระบบการ
วางแผน การบริหารจัดการ การกำกับดูแล และการติดตามประเมินผล เพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ มาใช้ในการปรับกลยุทธ์ของการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

นโยบายรัฐมนตรีฯศรีเมือง ฯและเลขา กพฐ.มอบให้ผอ.เขตฯที่อุดรธานี

นายศรีเมือง เจริญศิริ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.)
กล่าวในการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ณ โรงแรมเจริญศรีแกรนด์ จ.อุดรธานีว่า ขอฝากให้ ผอ.สพท.ช่วยผลักดัน งานการศึกษาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 และนโยบายการศึกษา 7 ด้านของรัฐบาล รวมทั้งติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาด้วย ส่วนเรื่องการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด หรือ เออร์ลี่รีไทร์ ซึ่งทราบว่าบางโรงเรียนมีครูเออร์ลี่ฯ กันมากจนส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนอย่างมาก ก็ขอให้สพท.ติดตามช่วยเหลือและรีบบรรจุครูทดแทนให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลนครูด้วยโดยเฉพาะในโรงเรียนที่ห่างไกล นอกจากนี้อยากให้ดูแลการรับนักเรียนให้เรียบร้อย ไม่ให้มีเรื่องการฝากเด็ก การเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ เพราะการรับนักเรียนต้องทำด้วยความโปร่งใส

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)
กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการเน้นให้ ผอ.สพท.ทั่วประเทศดูแลเป็นพิเศษ คือ เรื่องการประเมินภายนอกของสถานศึกษา ที่แต่ละเขตพื้นที่จะต้องดูแลไม่ให้มีโรงเรียนอยู่ในเกณฑ์ปรับปรุงเป็นจำนวนมากอีก และต้องลงไปช่วยพัฒนาโรงเรียนที่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น รวมถึงต้องเน้นย้ำให้โรงเรียนนำผลการวัดประเมินระดับชาติ (เอ็นที) ผลประเมินของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด เพื่อลดจำนวนเด็กที่เรียนอ่อนและเพิ่มจำนวนเด็กที่เรียนเก่งให้มากขึ้น นอกจากนี้ขอให้เน้นย้ำเรื่องระบบการดูแลนักเรียน โดยให้โรงเรียนให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในเรื่องปัญหาเด็กติดเกม เพศศึกษา ให้มากขึ้นด้วย “สำหรับการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น ถึงแม้ สพฐ.อยากให้ครูได้รับกันทุกคน แต่การจะได้รับวิทยฐานะก็ควรเกิดจากการทำงานที่แท้จริง ซึ่งจากการประชุมอ.ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาหลักเกณฑ์ให้มีและเลื่อนวิทยฐานะ เมื่อเร็ว ๆ นี้ สพฐ.ได้เสนอข้อมูลและตั้งข้อสังเกตไปว่า การประเมินวิทยฐานะที่ผ่านมา มีครูที่ดีและเก่ง ๆ จำนวนมากไม่ผ่านการประเมิน เพราะเขียนผลงานวิชาการไม่ดี สพฐ.เห็นว่า ควรต้องมีกระบวนการดูแลช่วยเหลือครูกลุ่มนี้ ส่วนกรณีที่ผลงานวิชาการไม่ชัดเจนก็น่าจะมีการอบรมแบบเข้มเพื่อช่วยเหลือด้วย” เลขาธิการกพฐ. กล่าวและว่า นอกจากนี้ขอให้ ผอ.สพท.ได้ไปศึกษานโยบายของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา เพื่อนำไปปรับใช้ด้วย เนื่องจากมีนโยบายด้านการศึกษาที่น่าสนใจ.

Monday, November 3, 2008

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ 2539

1.วิธีการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการละเมิดของเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539ข้อใดถูกต้อง
ก ชดใช้เป็นเงิน
ข ซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายให้คงสภาพเดิม
ค ชดใช้เป็นทรัพย์สินที่มีคุณภาพ สภาพและปริมาณอย่างเดียวกับที่เสียหาย
ง ทุกข้อ
2.คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิดที่หัวหน้าส่วนราชการแต่งตั้งมีกี่คน
ก ไม่น้อยกว่า 5 คน
ข ไม่เกินกว่า 5 คน
ค ไม่น้อยกว่า 7 คน
ง ไม่เกินกว่า 7 คน
3.การฟ้องของบุคคลภายนอกที่ได้รับการละเมิดจากเจ้าหน้าที่รัฐที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่และเจ้าหน้าที่รัฐคนนั้นไม่ได้สังกัดหน่วยงานใด บุคคลภายนอกจะฟ้องหน่วยงานใด
ก ฟ้องเจ้าหน้าที่คนนั้น
ข ฟ้องหน่วยงานรัฐ
ค ฟ้องนายกรัฐมนตรี
ง ฟ้องกระทรวงการคลัง
4.การฟ้องร้องกรณีที่เกิดละเมิดขึ้นแก่เอกชน โดยเจ้าหน้าที่รัฐได้ปฏิบัติไปตามหน้าที่ ผู้เสียหายจะฟ้องร้องต่อใครได้เพื่อให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ก ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ข ฟ้องหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่สังกัด
ค ฟ้องกระทรวงการคลังเท่านั้น
ง ไม่สามารถฟ้องร้องได้
5.กรณีที่เกิดละเมิดขึ้นแก่หน่วยงานของรัฐ โดยเจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อเอกชนโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ผู้ใดเป็นผู้รับผิดชอบค่าสินไหมทดแทน
ก เจ้าหน้าที่รัฐ
ข หน่วยงานของรัฐ
ค กระทรวงการคลัง
ง เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐในฐานะเจ้าหนี้ร่วม
6.ผู้ใดเป็นผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง หากโรงเรียนเกิดไฟไหม้
ก ผอ.โรงเรียน
ข ผอ.เขตฯ
ค เลขาฯสพฐ.
ง บุคคลตามมาตรา 53 ของพรบ.ครู
7.จุดประสงค์หลักของพระราชบัญญัติความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ข้อใดเป็นจริงที่สุด
ก ต้องการคุ้มครองหน่วยงานรัฐ
ข ต้องการคุ้มครองหน่วยงานเอกชน
ค ต้องการคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริตรอบคอบ
ง ต้องการคุ้มครองหน่วยงานของรัฐที่ได้รับผลกระทบจากการฟ้องร้องของเอกชน
8.ผู้เสียหายสามารถยื่นฟ้องร้องเมื่อถูกละเมิด กรณีที่มิได้เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ต่อหน่วยงานใด
ก หน่วยงานรัฐ
ข ศาลยุติธรรม
ค กระทรวงการคลัง
ง ศาลปกครอง
9.ถ้าผู้เสียหายได้ยื่นคำขอให้หน่วยงานรัฐพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หน่วยงานรัฐต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกี่วัน
ก 60
ข 90
ค 120
ง 180
10.หากหน่วยงานของรัฐได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย โดยเจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบค่าสินไหม สิทธิของหน่วยงานรัฐที่จะเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนมีอายุความกี่ปี
ก ภายในครึ่งปี
ข ภายใน 1 ปี
ค ภายใน 2 ปี
ง ภายใน 5 ปี
---------------------------------------------
1-ง 2-ข 3- ง 4-ข 5-ก 6-ก 7-ค 8-ข 9-ง 10-ข

Saturday, November 1, 2008

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540

1.ข้อมูลข่าวสารในข้อใดที่ไม่ต้องเปิดเผย
ก ข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ข ข้อมูลข่าวสารที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ
ค ข้อมูลข่าวสารที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ง ทุกข้อที่กล่าวมา
2.ข้อมูลข่าวสารของราชการในข้อใดที่เจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้
ก การเปิดเผยจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ข รายงานการแพทย์หรือข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลซึ่งการเปิดเผยจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร
ค การเปิดเผยจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพหรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้
ง ทุกข้อที่กล่าวมา
3.ข้อมูลข่าวสารที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีอายุการเก็บรักษากี่ปี
ก 20
ข 25
ค 35
ง 75
4.กรณีประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการเข้าดูข้อมูลข่าวสารของราชการโดยไม่มีเหตุอันสมควร จะร้องเรียนต่อหน่วยงานใด
ก ผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานตนเอง
ข ผู้ว่าราชการจังหวัด
ค คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ
ง คณะกรรมการวินัจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
5.ข้อมูลข่าวสารที่สามารถให้ประชาชนเข้าดูแต่ถ้าต้องห้ามมิให้เปิดเผยได้ ต้องดำเนินการในข้อใดจึงจะถูกต้อง
ก เปิดเผยเฉพาะส่วนนั้น
ข ใช้การตัดต่อหรือขีดฆ่าข้อความที่ไม่ให้เปิดเผย
ค เจ้าหน้าที่บอกเฉพาะบุคคลที่เข้าไปดูข่าวสารเท่านั้น
ง ลบ ตัดทอน ทำอย่างอื่นที่ไม่เป็นการเปิดเผย
6.ข้อมูลข่าวสารในข้อใดที่บุคคลย่อมมีสิทธิเข้าตรวจดู หรือขอสำเนาได้
ก มติคณะรัฐมนตรี
ข โครงการงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ค คู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ง ทุกข้อ
7.ถ้ามีประชาชนเข้ามาขอดูข้อมูลข่าวสารในหน่วยงานของท่าน แต่ท่านไม่มีข้อมูลนั้น ท่านจะดำเนินการอย่างไรจึงจะถูกต้อง
ก บอกว่าไม่มี แล้ววันหลังจะหาให้
ข ให้ไปถามที่หอสมุดหรือเจ้าหน้าที่คนอื่น
ค ไปดำเนินการให้ที่หน่วยงานอื่น
ง แนะนำหน่วยงานที่มีข้อมูลและให้ไปขอดูที่หน่วยงานนั้น
8.ถ้าหน่วยงานของรัฐพิจารณาว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารจะก่อให้เกิดอันตรายหรือความปลอดภัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใด จะดำเนินการตามข้อใด
ก ทำให้เป็นเรื่องลับ
ข ปกปิด
ค ทำคำสั่งมิให้เปิดเผย
ง ไม้รับคำร้องขอดูข้อมูลข่าวสารนั้น
9.ข้อใดต่อไปนี้ เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล
ก ประวัติสุขภาพ
ข รูปถ่าย
ค ลายนิ้วมือ
ง ทุกข้อ
10.การอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารราชการให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ภายในกี่วัน
ก 7
ข 15
ค 30
ง 60
----------------------------------------------
1-ก 2-ง 3-ง 4-ค 5-ง 6-ง 7-ง 8- ค 9-ง 10- ข

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

1.คำสั่งทางปกครอง หมายความว่า การใช้อำนาจตามกฏหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ฯ ข้อใดต่อไปนี้ไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง
ก การสั่งการ
ข การอนุญาต
ค การวินิจฉัยอุทธรณ์
ง การออกกฎ
2.เจ้าหน้าที่ในข้อใดที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้
ก เป็นคู่หมั้นของคู่กรณี
ข เป็นญาติของคู่กรณี
ค เป็นนายจ้างของคู่กรณี
ง ทุกข้อที่กล่าวมาจะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้
3.การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง กรณีคำสั่งใดไม่ออกโดยรัฐมนตรีและไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนการอุทธรณ์ ฯให้คู่กรณีอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง ยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้นภายในกี่วัน
ก 15
ข 30
ค 60
ง 90
4.คำสั่งทางปกครองอาจทำเป็นหนังสือหรือวาจาหรือโดยการสื่อความหมายในรูปแบบอื่นก็ได้แต่ต้องมีข้อความหรือความหมายที่ชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้ ข้อใดถูกต้องที่สุดเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือ
ก ต้องระบุวัน เดือนและ ปีที่ทำคำสั่ง
ข ชื่อและตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่ง
ค ลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่ง
ง ถูกทุกข้อ
5.คำสั่งทางปกครองให้มีผลใช้ยันต่อบุคคลตั้งแต่เมื่อใด
ก ผู้นั้นได้รับแจ้งเป็นต้นไป
ข วันที่ออกคำสั่งทางปกครอง
ค วันที่ระบุในคำสั่งทางปกครอง
ง วันที่ผู้นั้นเซนต์รับคำสั่งทางปกครอง
6.การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะการให้ประโยชน์ต้องกระทำภายในกี่วัน
ก 15
ข 30
ค 60
ง 90
7.ผู้ได้รับผลกระทบจากการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิได้รับค่าทดแทนความเสียหาย เนื่องจากความเชื่อโดยสุจริตในความคงอยู่ของคำสั่งทางปกครองได้ ต้องรองขอค่าทดแทนดังกล่าวได้ภายในกี่วัน นับแต่ได้รับแจ้งให้ทราบถึงการเพิกถอนนั้น
ก 1 ปี
ข 180
ค 120
ง 90
8.คำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ผู้ใดชำระเงิน ถ้าถึงกำหนดแล้วไม่มีการชำระโดยถูกต้องครบถ้วน ให้เจ้าหน้าที่มีหนังสือเตือนให้ผู้นั้นชำระภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่ากี่วัน.. ซึ่งถ้าไม่มีการปฏิบัติตาม คำเตือน เจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สิน...ฯ
ก 90
ข 30
ค 15
ง 7
9.ข้อใดต่อไปนี้หมายความว่า “กฎ”ตามพระราชบัญญัติ วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
ก พระราชกฤษฎีกา
ข กฎกระทรวง
ค ประกาศกระทรวง
ง ทุกข้อ
10.ในกรณีที่มีคู่กรณีเกินห้าสิบคนยื่นคำขอให้มีคำสั่งทางปกครองในเรื่องเดียวกัน โดยไม่มีการกำหนดให้บุคคลใด เป็นตัวแทนร่วมของตน ให้เจ้าหน้าที่ในเรื่องนั้นแต่งตั้งบุคคล ดังข้อใดเป็นตัวแทนร่วมของบุคคลดังกล่าว
ก แต่งตั้งบุคคลที่คู่กรณีคัดเลือกเป็นตัวแทนร่วม
ข แต่งตั้งบุคคลที่คู่กรณีแต่งตั้งขึ้นเป็นตัวแทนร่วม
ค แต่งตั้งคู่กรณีฝ่ายข้างมากเห็นชอบเป็นตัวแทนร่วม
ง แต่งตั้งคู่กรณีที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นตัวแทนร่วม
..............................................................................................
1-ง 2- ง 3-ก 4-ง 5-ก 6-ง 7-ข 8-ง 9-ง 10-ค