Thursday, December 4, 2008

การมอบอำนาจเรื่องโรงเรียนนิติบุคคล

อำนาจหน้าที่ของสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคลตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ปฏิบัติราชการแทน
หากจะพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการสถานศึกษาที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลแล้วจะเห็นได้ว่าผู้อำนวยการสถานศึกษา จะมีฐานะเป็นผู้แทนของนิติบุคคลแต่ก็มิได้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการสถานศึกษาอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกับหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงทบวง กรม ทั้งนี้เพราะในระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการของไทยนั้น ให้ความไว้วางใจแก่หัวหน้าส่วนราชการในระดับกระทรวง ทบวง กรมที่จะใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายได้อย่าง กว้างขวาง เมื่อพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖บัญญัติให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล แต่มิได้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายอื่น ๆ ให้ผู้บริหารสถานศึกษามีอำนาจหน้าที่ในการกระทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ เช่นเดียวกับหัวหน้าส่วนราชการในระดับ กระทรวงทบวง และ กรมด้วย จึงเป็นผลให้ผู้บริหารสถานศึกษายังไม่อาจบริหารจัดการสถานศึกษาให้มีความอิสระคล่องตัวและมีประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริงเพราะอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการในหลายเรื่องยังเป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าส่วนราชการในระดับกระทรวง ทบวง และกรมอยู่ หากจะให้สถานศึกษาบริหาร จัดการได้เองอย่างอิสระและคล่องตัวในเรื่องใด ก็จำเป็นต้องจัดให้มีการกระจายและมอบอำนาจในเรื่องนั้น ๆ ให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ดังนั้น มาตรา ๔๔ และมาตรา ๔๕แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ จึงได้บัญญัติเกี่ยวกับการกระจายอำนาจและ มอบอำนาจไว้ดังนี้
๑. ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจะต้องกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป ไปยังคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาโดยตรง และหากเรื่องใดมีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะก็ให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมอบอำนาจให้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้อำนวยการสถานศึกษา ภายใต้หลักการบริหารงานการศึกษา ดังนี้
๑.๑ อำนาจหน้าที่ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับงบประมาณและการดำเนินการทางงบประมาณของผู้อำนวยการสถานศึกษาหรือผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษา รวมตลอดถึงหลักการการให้สถานศึกษาหรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีอำนาจทำนิติกรรมสัญญาในวงเงิน งบประมาณที่ได้รับอนุมัติแล้ว
๑.๒ หลักเกณฑ์การพิจารณาความดีความชอบ การพัฒนา และดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยสัมพันธ์กับแนวทางที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูแลบุคลากรทางการศึกษาการกระจายอำนาจและการมอบอำนาจดังกล่าว จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎกระทรวง
๒. ปลัดกระทรวงศึกษาศึกษาธิการ เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการ
ศึกษา ขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
ยังอาจกำหนดหลักเกณฑ์ให้หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดมอบอำนาจในส่วนที่เกี่ยวกับภารกิจตนรับผิดชอบไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรงก็ได้
. ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้อำนวยการสำนักบริหารงานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการต่าง ๆ ก็อาจมอบอำนาจในส่วนที่เกี่ยวกับภารกิจที่ตนรับผิดชอบ หรือที่ได้รับมอบหมายตามระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ จากสำนักงาน คณะกรรมการต่าง ๆ ไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือ หัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าผู้อำนวยการสถานศึกษาโดยตรงทั้งนี้ โดยจะต้องไม่ขัดต่อนโยบายหรือการสั่งการของกระทรวง หรือคณะกรรมการต้นสังกัด
๔. อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่นที่ผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้จะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งนั้น หรือมติของ คณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบ อำนาจไว้ ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทนได้โดยคำนึงถึงความเป็นอิสระ การบริหารงานที่คล่องตัวในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาและของสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาที่บัญญัติในมาตรา ๔๔ (๑) และ (๒) ดังนี้
๔.๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอาจมอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวง เลขาธิการ หรือหัวหน้าส่วนราชการซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่าอธิการบดีในสถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาระดับปริญญาในสังกัด หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
๔.๒ ปลัดกระทรวงอาจมอบอำนาจให้รองปลัดกระทรวง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงหรือเลขาธิการ อธิการบดีในสถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาระดับปริญญาในสังกัด หรือผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
๔.๓ เลขาธิการอาจมอบอำนาจให้รองเลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการ อธิการบดีในสถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาระดับปริญญาในสังกัด ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการ สำนักบริหารงานหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
๔.๔ ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการสำนักบริหารงาน หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าอาจมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า
๔.๕ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า อาจมอบอำนาจให้ข้าราชการในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นในเขตพื้นที่การศึกษาที่ตนรับผิดชอบได้ตามระเบียบที่เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด
๔.๖ ผู้อำนวยการสถานศึกษาหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า อาจมอบอำนาจให้ข้าราชการในสถานศึกษาหรือในหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นได้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษากำหนด
๔.๗ ผู้ดำรงตำแหน่ง (๔.๑) ถึง (๔.๖) อาจมอบอำนาจให้บุคคลอื่นได้ตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
๕. การมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนนี้ต้องทำเป็นหนังสือ ซึ่งการทำเป็นหนังสือนั้นอาจจะทำเป็นคำสั่ง หรืออาจจะเป็นบันทึกสั่งการก็ได้
๖. คณะรัฐมนตรีก็อาจกำหนดให้มีการมอบอำนาจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตลอดจนอาจมอบอำนาจให้ทำนิติกรรม ฟ้องคดี หรือดำเนินคดีแทนกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้หรืออาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขในการมอบอำนาจ ให้ผู้มอบอำนาจหรือผู้รับมอบอำนาจปฏิบัติก็ได้
๗. เมื่อมีการมอบอำนาจดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจซึ่งได้แก่หัวหน้าสถานศึกษา และผู้ดำรงตำแหน่งอื่น ๆ มีหน้าที่ต้องรับมอบอำนาจ และปฏิบัติราชการตามที่ได้รับมอบอำนาจนั้น ตามวัตถุประสงค์ของการมอบอำนาจและให้เกิดผลดีแก่ทางราชการ จะปฏิเสธไม่รับมอบอำนาจหรือมอบอำนาจต่อให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นต่อไปไม่ได้ เว้นแต่เป็นกรณีการมอบอำนาจให้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดจะมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินก็ได้
ในเรื่องนี้จึงมีข้อสังเกตว่าหากผู้อำนวยการสถานศึกษาได้รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการในเรื่องใดแล้ว จะมอบอำนาจให้ข้าราชการในสถานศึกษาคนอื่นปฏิบัติราชการแทนตนอีกต่อหนึ่ง ไม่ได้ แต่อาจมอบหมายให้ดำเนินการต่าง ๆ โดยอยู่ในความรับผิดชอบ การสั่ง การอนุญาตอนุมัติ ของ ผู้อำนวยการสถานศึกษาในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ หรือเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาได้
๘. ผู้มอบอำนาจยังต้องคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ความรวดเร็วในการปฏิบัติราชการ กระจายความรับผิดชอบตามสภาพของตำแหน่งของผู้รับมอบอำนาจ ซึ่งผู้มอบยังมีหน้าที่กำกับ ติดตามผลการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจและมีอำนาจแนะนำและแก้ไขการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจได้ในการมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาซึ่งเป็นผู้แทนของสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคลนี้ เห็นว่าเป็นดุลพินิจของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจที่จะมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสถานศึกษามากน้อยเพียงใดก็ได้แต่ต้องอยู่ภายในกรอบและหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกระจายอำนาจและการมอบอำนาจ การบริหารและการจัดการศึกษา ดังนั้น ในการมอบอำนาจนี้ผู้มอบอำนาจจะพิจารณาถึงความพร้อมและประสิทธิภาพของสถานศึกษาแต่ละแห่ง โดยอาจมอบอำนาจให้ไม่เท่ากันได้

No comments: