Tuesday, January 20, 2009

ยุทธศาสตร์การบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก

ทำแบบทดลองสอบ พลวัต 42 ที่เวบครูคลับ ครับ และขอขอบคุณข้อมูลจากท่าน BonJoviQC.เรื่องยุทธศาสตร์การบริหารโรงเรียนขนาดเล็กของ สพฐ.


แผนยุทธศาสตร์โรงเรียนขนาดเล็ก (ปี ๒๕๕๑-๒๕๕๓) มีเป้าหมาย ดังนี้

ระยะที่ ๑ (ตุลาคม ๒๕๕๐-กันยายน ๒๕๕๑) จะพัฒนาระบบวางแผน ระบบการเรียนการสอน และทำความตกลงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องมาตรฐาน หลักเกณฑ์ ระเบียบและแนวทางปฏิบัติ โดยจะนำร่องตามรูปแบบการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพใน ๑๗๕ สพท.(ยกเว้น กทม.) จำนวน ๘๐๐ โรง (สพท.ละ ๑-๓ ตำบล)

ระยะที่ ๒ (ตุลาคม ๒๕๕๑-กันยายน ๒๕๕๒) จะนำร่องตามรูปแบบการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพใน ๑๗๕ สพท.(ยกเว้น กทม.) จำนวน ๑,๗๕๐ โรง (สพท.ละ ๑๐ โรง)

ระยะที่ ๓ (ตุลาคม ๒๕๕๒-กันยายน ๒๕๕๓) จะขยายผลไปยัง ๑๗๕ สพท. ๆ ละ ๑ อำเภอ คาดว่าจะมีโรงเรียนขนาดเล็กเข้าร่วมโครงการ ๔,๐๐๐ โรง จากนั้นจะประมวลผลการดำเนินงาน เพื่อปรับยุทธศาสตร์และเสนอแผนดำเนินการสำหรับโรงเรียนที่เหลือเพื่อเสนอรัฐบาลต่อไป

สำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กจะประกอบด้วย ๔ ยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ พัฒนาระบบวางแผนและการบริหารจัดการ

ประกอบด้วยการพัฒนาระบบวางแผนการจัดตั้งและพัฒนาโรงเรียนในแต่ละ สพท. การพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ การพัฒนาระบบบริหารจัดการสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน และการสร้างแรงจูงใจแก่ผู้บริหารและครูในโรงเรียนขนาดเล็ก

ยุทธศาสตร์ที่ ๒ พัฒนาระบบการเรียนการสอนและการประกันคุณภาพ

ประกอบด้วยการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก การพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอนการผลิตและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนการสอนการนิเทศ ติดตาม กำกับ และการวิจัยและพัฒนาสื่อ

ยุทธศาสตร์ที่ ๓ เสริมสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งของโรงเรียน

ประกอบด้วยการจัดทำมาตรฐานโรงเรียนขนาดเล็ก การปรับปรุงและพัฒนาสถานที่เรียน สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การจัดอัตรากำลังครู การพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอน การพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และสนับสนุนงบประมาณ วัสดุ ครุภัณฑ์ที่จำเป็น

ยุทธศาสตร์ที่ ๔ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา

ประกอบด้วย การพัฒนาคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การสร้างและพัฒนาเครือข่ายผู้ปกครองให้เข้มแข็ง การส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม การเตรียมความพร้อมในการมีส่วนร่วมการจัดให้มีระบบและกลไกในการระดมทรัพยากร และการวิจัยและพัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมที่เหมาะสม

No comments: